ตอนที่ 2 #การร้องขอให้ให้ศาลมีคำสั่งว่าการสมรสเป็น “โมฆะ” #พร้อมตัวอย่างคำสั่งศาลให้การสมรสเป็นโมฆะ
ส่วนใหญ่แล้วคนที่จดทะเบียนสมรสกันนั้น มักเกิดจากความรักที่มีให้กัน มีเจตนาอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ได้สิทธิตามกฎหมาย อาทิ สิทธิในการเป็นคู่สมรสเรียกค่าทดแทนจากชู้ สิทธิในสินสมรส สิทธิอำนาจปกครองบุตร สิทธิเบิกรักษาพยาบาลในกรณีที่คู่สมรสรับราชการ สิทธิในการได้รับสัญชาติไทย เป็นต้น
ในสมัยก่อนและปัจจุบันนี้ ยังคงมีบริษัทบางบริษัททำธุรกิจเป็นตัวแทนในการจัดหาหญิงไทยเพื่อจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ และมีหญิงไทยบางกลุ่มยอมจดทะเบียนกับชายชาวต่างชาติเพื่อแลกกับเงินค่าจ้าง หรือมีบางกลุ่มจดทะเบียนสมรสเพื่อขอวีซ่าติดตามสามีไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งชายชาวต่างชาตินั้นก็จะได้สิทธิในความเป็นสามีตามกฎหมาย บางรายขอสัญชาติไทยได้และอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้อย่างสะดวกสบายโดยมิต้องกังวลเรื่องการขอต่ออายุหนังสือเดินทาง เมื่อได้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรแล้ว บางคนนั้นก็ประกอบกิจการต่างๆ หรือแสวงหาประโยชน์ที่พึงประสงค์ในราชอาณาจักรไทย หลังจากที่จดทะเบียนนั้นก็มิได้อยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยาอย่างปกติทั่วไป อาจจะมีติต่อกันบ้างในบางครั้งหรืออาจจะไม่ติดต่อกันอีกเลย
แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปชายชาวต่างชาติได้เดินทางกลับประเทศหรือออกนอกราชอาณาจักรไทยไปแล้ว หลักฐานข้อมูลในระบบยังคงปรากฏทางทะเบียน ว่ามีสถานภาพสมรสอยู่ ซึ่งตามกฎหมายไทยนั้นการที่หญิงไทยที่มีคู่สมรสนั้นจะดำเนินการต่างๆที่คู่สมรสต้องให้ความยินยอมนั้นก็จะกระทำมิได้ เนื่องจากคู่สมรสติดต่อมิได้หรือออกนอกราชอาณาจักรไปแล้ว หรือจะจดทะเบียนสมรสใหม่ก็กระทำมิได้เช่นกันเพราะจะกลายเป็นจดทะเบียนสมรสซ้อน และมีผลเป็นโมฆะ
ดังนั้น การรับจ้างจดทะเบียนสมรส จึงเท่ากับว่าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมิได้มีเจตนาโดยเปิดเผยที่จะอยู่กินฉันสามีภรรยากันตั้งแต่แรก หากแต่เป็นการกระทำเพื่อให้ฝ่ายหญิงนั้นได้เงินค่าจ้าง และฝ่ายชายได้สิทธิในการอยู่อาศัยหรือสิทธิอื่นตามกฎหมายในประเทศไทย การกระทำเช่นนี้ย่อมทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะ
คำว่า “โมฆะ” นี้หมายความว่า เสียเปล่า ไม่มีผลใด ๆ ทางกฎหมายเลย ดังนั้น การสมรสที่เป็นโมฆะ จึงไม่มีผลใด ๆ ตามกฎหมายเลย
แต่เนื่องจากกฎหมายครอบครัว เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานะของบุคคล และเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนกฎหมายจึงกำหนดว่าการสมรสที่เป็นโมฆะนั้นโดยทั่วไปแล้ว บุคคลใดจะนำขึ้นมากล่าวอ้างไม่ได้เว้นแต่ศาลจะได้แสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะเสียก่อน ยกเว้นกรณีการสมรสซ้อนกฎหมายกำหนดให้ ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ และในกรณีที่กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิในการกล่าวอ้างและศาลยังไม่พิพากษา แสดงความเป็นโมฆะของการสมรสชายหญิงคู่นั้นก็ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ตามปกติ
เมื่อมีการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้การสมรสตกเป็นโมฆะแล้ว ศาลจะทำการนัดไต่สวนคำร้อง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า การสมรสนั้น มิได้เกิดจากความสมัครใจที่ทั้งคู่จะยินยอมเป็นสามีภริยากันโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน หากไต่สวนแล้วได้ความว่า การสมรสเป็นไปโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ศาลจะมีคำสั่งให้การสมรสตกเป็นโมฆะ และมีหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนให้นายทะเบียนบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสด้วย และเมื่อนายทะเบียนได้บันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสแล้ว ย่อมทำให้สถานะภาพสมรสหมดไป คู่สมรสก็สามารถไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการจดทะเบียนสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายได้ต่อไป ซึ่งเรื่องนี้มีตัวอย่างคำสั่งศาล หนังสือแจ้งบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส และคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้ครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2545
การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน โดยทั้งสองคนตกลงจะเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาทั้งในทางธรรมชาติและกฎหมาย ได้ดูแลความทุกข์สุข เจ็บป่วยซึ่งกันและกันต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน การที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. แต่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกัน เมื่อ ช. ป่วย โจทก์เป็นผู้พา ช. ไปโรงพยาบาลและเสียค่ารักษาพยาบาลให้ และยังให้ ช. ไปพักอาศัยอยู่ด้วย ส่วนจำเลยยังคงพักอาศัยอยู่กับน้องสาวและไม่เคยออกค่ารักษาพยาบาลทั้งไม่เคยมาเยี่ยมเยียน ช. เลย เห็นได้ชัดว่าจำเลยกับ ช. มิได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่อย่างใด จำเลยเองก็ยังรับว่าไม่อยากไปจดทะเบียนสมรส แต่ ช. เป็นผู้พาไปโดยบอกว่าถ้าไม่จดทะเบียนสมรสแล้วจะไม่มีผู้ใดมีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอด ซึ่งก็ปรากฏว่าเมื่อ ช. ถึงแก่กรรมจำเลยเป็นผู้ได้รับเงินบำเหน็จตกทอดมาจริง แสดงว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. โดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากันมาแต่แรก หากแต่เป็นการกระทำเพื่อให้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดเท่านั้น การสมรสของจำเลยจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
ดังนั้น การจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญให้ตระหนักไว้เสมอ เพราะหากจะฟ้องหย่าหรือดำเนินการตามกฎหมายนั้น คุณอาจเสียทั้งเวลาและเสียทั้งเงินทอง และอาจมีความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานอีกด้วย
กฎหมายที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1458 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามี ภริยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้า นายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย
มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืน มาตรา 1449 มาตรา 145O มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ
ท่านใดที่ต้องการปรึกษากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องฟ้องหย่า หรือ การร้องขอให้การสมรสเป็นโมฆะ
ปรึกษากฎหมายโทร080-9193691, 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi
กรณีศึกษาจากเรื่องจริง การรับจ้างจดทะเบียนสมรสกับคนต่างชาติ การสมรสตกเป็น “โมฆะ”