เช็คที่มีดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วย แม้เช็คเด้งก็ไม่ต้องรับผิดการที่ผู้สั่งจ่ายเช็คจะมีความผิดตามพระราช บัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ นอกจากจะต้องพิจารณาว่า
1. มีหนี้ที่จะต้องชำระหรือไม่ และ
2. หนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ และ
3. ได้มีการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวนั้น
อีกหนึ่งเรื่องที่จะต้องพิจารณาก็คือ “ความเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย”
หากการสั่งจ่ายเช็คโดยมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดหรือหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่า ร้อยละ 15 ต่อปี หรือ 1.25 ต่อเดือน หนี้ดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมาย และต้องห้ามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3(ก) ถือว่าเจ้าหนี้ผู้รับเช็คไปขึ้นเงินไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
ดังนั้น การที่เจ้าหนี้เงินกู้นำเช็คไปขึ้นเงินเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย ถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่คิดเกินอัตรา แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คก็จะถือว่าเจ้าหนี้ไม่ใช้ผู้เสียหายตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น ผู้สั่งจ่ายเช็คก็ไม่ต้องรับผิด
คำพิพากษาฎีกาที่ 2655/2539
การที่โจทก์รับเช็คพิพาทจาก ช. เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเกินอัตราตามกฎหมาย แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท ก็จะถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำเช็คพิพาทมาฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4
คำพิพากษาฎีกาที่ 2989/2545
จำเลยกู้เงินจากผู้เสียหายเพียง 50,000 บาท แต่ในสัญญากู้เงินระบุว่าจำเลยกู้ไป 60,000 บาท แสดงว่าเงิน 10,000 บาท ที่เกินมาคือดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดจากจำเลย ปรากฏว่าในสัญญากำหนดเวลาใช้เงินกู้คืนภายใน 1 เดือน จึงเท่ากับเป็นการคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือน เกินกว่าอัตราตามกฎหมาย ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3(ก) การที่ผู้เสียหายรับเช็คพิพาทจากจำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายเรียกเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย ถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่คิดเกินอัตรา แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวก็จะถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)
แม้ผู้เสียหายที่เป็นผู้กระทำผิดจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่ามีการร้องทุกข์และสอบสวนโดยชอบตามกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 และ 121
มาตรา 4 “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ”
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
www.closelawyer.co.th