การสามีหรือภริยาไปทำ สัญญาค้ำประกัน ให้บุคคลอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่
ตามกฎหมายมาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
( นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
ซึ่งนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ใน (1)-( แล้ว สามีหรือภริยาจัดการได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
จะเห็นได้ว่า “การทำ สัญญาค้ำประกัน ” ไม่ใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งแปลความหมายได้ว่าผู้เป็นสามีหรือภริยา สามารถทำสัญญาค้ำประกันได้ตามลำพัง โดยกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสของทั้งสองฝ่าย
คำพิพากษาฎีกาที่ 2934/2559
บริษัท ก. ได้กู้ยืมเงินโจทก์โดยมีจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทดังกล่าว ต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จําเลยที่ 1 ชําระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จําเลยที่ 1 ไม่ชําระ โจทก์จึงนําเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหุ้นประเภทหุ้นสามัญของบริษัท ร. ของจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสินสมรสของจําเลยที่ 1 กับผู้ร้องเพื่อบังคับชําระหนี้ตามคําพิพากษา ผู้ร้องขอให้กันส่วนหุ้นสามัญที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้สำหรับผู้ร้องกึ่งหนึ่งนั้น
เมื่อไม่ได้ความว่าบริษัท ก. เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการในครอบครัวของจําเลยที่ 1 กับผู้ร้อง ทั้งการกู้ยืมเงินเป็นเรื่องที่บริษัท ก. เป็นผู้กู้ยืมเงินจากโจทก์ โดยหาใช่เป็นกรณีที่จําเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ยืมเพื่อนําเงินมาใช้จ่ายในครัวเรือนของจําเลยที่ 1 กับผู้ร้องแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงสัญญาค้ำประกันที่จําเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์ ก็จะเห็นได้ว่าจําเลยที่ 1 ทำสัญญายอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชําระหนี้ในเมื่อบริษัท ก. ไม่ชําระหนี้เงินกู้ยืมนั้น ซึ่งการเป็นผู้ค้ำประกันของจําเลยที่ 1 ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้ให้กู้แล้ว ยังเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่บริษัท ก. ผู้กู้ เพื่อจะได้มีเงินมาใช้ในการประกอบกิจการของบริษัท
แม้จําเลยที่ 1 จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ก. แต่หนี้ที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาค้ำประกันของจําเลยที่ 1 ก็มิใช่หนี้ที่เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวหรือเป็นหนี้เกี่ยวแก่การอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับ สินสมรสหรือเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานที่จําเลยที่ 1 และผู้ร้องทำด้วยกัน
เมื่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจําเลยที่ 1 มิใช่หนี้ที่เป็นไปตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 1490 หนี้ประเภทนี้จึงมิใช่หนี้ที่จําเลยที่ 1 และผู้ร้องเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แต่เป็นหนี้ส่วนตัวของจําเลยที่ 1 โดยแท้
บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1476 มิได้บัญญัติให้การทำสัญญาค้ำประกันเป็นการจัดการสินสมรสที่สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งแปลความหมายได้ว่าจําเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีของผู้ร้องสามารถทำสัญญาค้ำประกันได้ตามลำพัง โดยกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสของทั้งสองฝ่าย ทั้งการที่ผู้ร้องเพิกเฉยมิได้โต้แย้งก็ไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การทำสัญญาค้ำประกันของจําเลยที่ 1 เมื่อหนี้ของจําเลยที่ 1 ตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิใช่หนี้ที่จําเลยที่ 1 และผู้ร้องเป็นลูกหนี้ร่วมกัน โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจึงไม่อาจบังคับชําระหนี้เอาจากสินสมรสในส่วนของผู้ร้องได้โดยไม่จําต้องพิจารณาว่าจําเลยที่ 1 และผู้ร้องได้หย่าขาดจากกันแล้วหรือไม่
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
การสามีหรือภริยาไปทำสัญญาค้ำประกันให้บุคคลอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่