ตามกฎหมาย ดอกเบี้ย ไม่สามารถคิดได้เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่หากเจ้าหนี้เรียกหนี้เบี้ยเกินกว่านั้นถือว่าเป็นการไม่ชอบและไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในหนี้ดังกล่าว
หนี้เงินนั้นหากมีการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น ถือว่าหนี้เงินนั้นยังสมบูรณ์แต่ไม่มีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายดังกล่าว หากมีการชำระหนี้ดอกเบี้ยที่ว่าผิดกฎหมายนั้น ตามคำพิพากษาฎีกาถือว่าเป็นการชำระหนี้เงินต้น
ตัวอย่าง นาย ก ให้นาย ข ชำระหนี้เงินกู้ไป 120,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ถือว่าเป็นหนี้ที่ผิดกฎหมาย โดยตกลงชำระหนี้ต่อกันไว้เดือนละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 3,000 บาท ต่อเดือน หากนาย ข ชำระไปแล้ว 5 เดือนรวมเป็นเงิน 65,000 บาท และไม่ชำระให้แก่นาย ก อีกเลย นาย ก จึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาล หากศาลมีคำพิพากษานาย ก ย่อมที่จะได้รับชำระหนี้อีกเพียง 55,000 บาท เท่านั้นอันถือว่าเป็นเงินต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง