closelawyer@gmail.com       080-919-3691

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ได้บัญญัติเอาไว้ว่า “ผู้เสียหาย หมายถึง ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดอาญา ฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งผู้มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา 4,5,6 ”

ซึ่งองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้บุคคลนั้นเป็น “ผู้เสียหาย” ในการที่จะร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อพนักงานสอบสวนได้นั้น องค์ประกอบที่สำคัญ คือ การที่จะต้องเป็น “ผู้เสียหายโดยนิตินัย”

ผู้เสียหายโดยนิตินัย หมายถึง ผู้ที่ไม่มีส่วนในการกระทำผิด หรือ ไม่เป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน หรือ รู้เห็นในการกระทำผิด หรือ ไม่เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมายนั้นด้วย

คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเช่นนี้ แม้ถึงว่า บุคคลที่ได้สมัครใจวิวาท เช่น เป็นบุคคลผู้ยั่วยุ หรือเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นก่อน อันถือว่ามีส่วนในการกระทำผิดจะมิใช่ผู้เสียหายในคดีอาญา แต่ในคดีส่วนแพ่งนั้น บุคคลที่ได้สมัครใจวิวาทดังกล่าวก็ยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องในส่วนของค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากเหตุวิวาทดังกล่าวได้

โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1  ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ ”

อ้างถึงคำพิพากษาฎีกาที่ 9174/2560      ผู้ตายแสดงความไม่พอใจที่จำเลยที่ 1 สนิทสนมกับ พ. ซึ่งเป็นคนรักเก่า และผู้ตายพูดท้าทายจำเลยที่ 1 ก่อน หลังจากนั้นผู้ตายและจำเลยที่ 1 ชกต่อยกันเป็นกรณีที่ผู้ตายกับจำเลยที่ 1 สมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่ ส. บิดาผู้ตาย เด็กชาย น. และ ศ. บุตรทั้งสองคนของผู้ตายจะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และ ป.วิ.อ. มาตรา 30 คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บุคคลทั้ง 3 เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาสมควรสั่งเพิกถอนและมีคำสั่งใหม่ให้ถูกต้อง

แม้ผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่ ส. บิดาของผู้ตายจะร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา แต่ถือได้ว่า ส. เป็นผู้เสียหายในทางแพ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ส. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้ ซึ่งคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตาย แต่ผู้ตายกับจำเลยที่ 1 สมัครใจวิวาทต่อสู้กัน เป็นกรณีต่างฝ่ายต่างทำให้เกิดความเสียหายขึ้นซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 442 ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และโดยที่ ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร และ ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่งค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi

แม้เต็มใจเข้าชกต่อยกับผู้อื่น ทางกฎหมายไม่ถือเป็นผู้สุจริตในการใช้สิทธิตามกฎหมายอาญา แต่ก็ยังมีสิทธิทางกฎหมายแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายได้
Scroll to top
error: Content is protected !!