closelawyer@gmail.com       080-919-3691

จากผู้เยาว์… สู่ผู้ใหญ่
 
        ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ถูกจำกัดความสามารถในการใช้สิทธิ เพราะเหตุอ่อนอายุ อ่อนประสพการณ์ ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้เป็นอย่างดี จึงต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองช่วยเหลือของบุคคลที่เป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งได้แก่ บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
การบรรลุนิติภาวะ (Majority) คือการทำให้บุคคลเป็นผู้มีสิทธิโดยสมบูรณ์ในทางแพ่ง
 
        ผู้เยาว์จะพ้นภาวะผู้เยาว์ และบรรลุนิติภาวะมี 2 กรณี คือ
        1.โดยอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
        2.โดยการสมรส เมื่อชาย และหญิงอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ยกเว้นกรณีมีเหตุอันสมควรจะขออนุญาตต่อศาลให้ทำการสมรสก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์
 
        1. การบรรลุนิติภาวะโดยอายุ ตามมาตรา 19 เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
การนับอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จะเริ่มนับเมื่อใด แต่เดิมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 เดิม มิได้บัญญัติให้เริ่มนับในวันใด จึงมีความเห็นของนักกฎหมายว่าควรนับระยะเวลาตามหลักเกณฑ์ทั่วไปในมาตรา 193/3 คือมิให้นับวันแรกที่เกิดรวมคำนวณด้วยกัน
        2. การบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 20 “ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติ มาตรา 1448”
 
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชาย และหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้การสมรสก่อนนั้นได้
หลักเกณฑ์การบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส (มาตรา 20 ประกอบมาตรา 1448)
        1.ชาย และหญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
        2.ข้อยกเว้น ถ้ามีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
ตัวอย่างเช่น ชาย และหญิงอายุไม่ครบ 17 ปี แต่ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ ศาลก็อาจใช้ดุล
พินิจ อนุญาตให้สมรสก่อนอายุครบ 17 ปีได้ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของเด็กที่จะคลอดออกมาจะได้มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
 
        เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะโดยการสมรสก็เพราะ เมื่อทำการสมรสแล้วคู่สมรสจะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาทั้งในทางส่วนตัว และในทางทรัพย์สินที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน จำเป็นจะต้องทำนิติกรรมต่างๆ มากมาย ถ้าหากจะต้องขอความ ยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมตลอดเวลาก็คงจะเป็นอุปสรรค์ต่อการทำหน้าที่ระหว่างสามีภริยา ดังนั้น เมื่อผู้เยาว์ทำการสมรสแล้วกฎหมายจึงบัญญัติให้บรรลุนิติภาวะ
 
        ในการบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสนั้น ต้องคำนึงว่าได้ทำตามเงื่อนไขการสมรสเรื่องอายุตามมาตรา 1448 แล้วหรือไม่เท่านั้น โดยมิต้องคำนึงว่าขัดต่อเงื่อนไขการสมรสประการอื่น เช่น ชายอายุ 18 ปี หญิงอายุ 17 ปี สมรสกันโดยมิได้รับความยินยอมจากบิดามารดาตามมาตรา 1454 ประกอบมาตรา 1436 ผลของการสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 1509 และบิดามารดามีสิทธิฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการสมรสให้ การสมรสสิ้นสุดลงได้ตามมาตรา 1510 แต่การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลง เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน ดังนั้นในระหว่างที่การสมรสยังไม่ได้ถูกเพิกถอนผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 1448 แล้ว
 
        คำพิพากษาฎีกาที่ 1320/2506
แม้ชายอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และหญิงอายุ 15 ปีบริบูรณ์ จะจดทะเบียนสมรสกัน (เงื่อนไขการสมรสเรื่องอายุตามกฎหมายครอบครัวเก่ากำหนดอายุชาย 17 ปี หญิง 15 ปี บริบูรณ์) โดยมิได้รับความยินยอมของบิดามารดา หรือผู้ปกครองก็ตาม ก็หาถือว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะ หรือไม่สมบูรณ์อย่างใดไม่ กฎหมายเพียงแต่ให้อำนาจบิดามารดา หรือผู้ปกครองร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการสมรสเสียได้เท่านั้น หากไม่มีการร้องขอให้เพิกถอน ชายหญิงย่อมบรรลุนิติภาวะ
 
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
จากผู้เยาว์… สู่ผู้ใหญ่
Scroll to top
error: Content is protected !!