จากบทบัญญัติดังกล่าว ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น กรณีดังกล่าวต้องดูเจตนาของผู้ที่ได้ทำการก่อสร้างว่า มีเจตนาปลูกสร้างไว้เพียงชั่วคราว หรือถาวร ในเมื่อก่อสร้างบ้านเรือนในที่ดินของผู้อื่น โดยเจ้าของที่ดินยินยอม เช่นนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่า ตัวบ้านและที่ดินแยกออกจากกัน มิได้ใช้ประโยชน์โดยการสันนิษฐานตามกฎหมาย ว่าเมื่อมีสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของที่ดินแปลงใด ย่อมเป็นของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น
อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1380/2532 ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ปลูกไม้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 108 วรรคแรก แต่ ถ้า ไม้ยืนต้นนั้น ผู้ปลูกมีเจตนาจะปลูกลงในที่ดินชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดเพียงชั่วคราว ย่อมถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่ติด กับที่ดินเพียงชั่วคราวไม่กลายเป็นส่วนควบของที่ดินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 109 จำเลยตกลง ให้ผู้ร้องปลูกต้นสน ลงในที่ดินของจำเลย เมื่อต้นสนโต เต็มที่จะตัด ขายเอาเงินมาแบ่งกัน ต้นสน ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินแต่ เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง จำเลยนำที่ดินไปจำนองไว้กับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาจากต้นสนส่วนของผู้ร้องซึ่ง เป็นบุคคลภายนอก ผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนได้ (วรรคแรก วินิจฉัยโดย มติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1/2532)
นอกจากนี้ บทบัญญัติดังกล่าวในตอนท้ายยังได้กำหนดอีกว่า ให้ทรัพย์ของผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดิน ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน จึงทำให้แม้สภาพของตัวทรัพย์นั้นหากดูโดยสภาพแล้วควรจะตกเป็นส่วนควบของที่ดิน แต่หากเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวได้สิทธิประการใดประการหนึ่งในที่ดินดังกล่าว ทรัพย์ของบุคคลดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน
และตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยตัดสินในประเด็นผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดิน ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน
อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1773/2519 เรือนปลูกในที่ดินของผู้อื่น โดยเจ้าของที่ดินยินยอมให้ปลูกอยู่อาศัย ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินไม่เป็นเจ้าของเรือน เจ้าหนี้ของเจ้าของเรือนยึดเรือนบังคับคดีได้
อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2516 ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน โดยมิได้จดทะเบียนสมรสทำมาหาเลี้ยงชีพร่วมกันจำเลยกับผู้ร้องได้ร่วมกันปลูกเรือนพิพาทในที่ดินของผู้ร้อง พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าผู้ร้องยินยอมให้ใช้ที่ดินของผู้ร้องปลูกเรือนพิพาทใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยกับผู้ร้องร่วมกัน จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามที่ผู้ร้องยินยอม กรณีเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 109 ไม่ถือว่าเรือนพิพาทเป็นทรัพย์ส่วนควบกับที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ผู้เดียว หากแต่ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยกับผู้ร้องร่วมกัน
เมื่อจำเลยเป็นเจ้าของร่วมในเรือนพิพาท ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยจากการยึดทรัพย์ คงมีแต่สิทธิขอกันส่วนของตนออกมิให้ถูกบังคับชำระหนี้ให้โจทก์เท่านั้น
ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi