สิทธิครอบครองได้มาอย่างไร
การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๖๗ จะต้องมีการยึดถือทรัพย์สิน และมีเจตนายึดถือเพื่อตน
ข้อพิจารณา
๑. การยึดถือทรัพย์สิน หมายถึง การเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นไว้ การยึดถือไม่จำต้องยึดถือหรือครอบครองไว้ด้วยตนเอง ผู้อื่นยึดถือหรือครอบครองแทน ก็เป็นการยึดถือได้ดังมาตรา ๑๓๖๘ บัญญัติว่า “บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง โดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้” เช่น นายจ้างให้ลูกจ้างครอบครองทำนาแทนตน ก็ถือว่านายจ้าง ได้ยึดถือที่นานั้นแล้ว แม้ว่านายจ้างจะไม่ได้เข้าครอบครองทำนานั้นด้วยตนเองก็ตาม
ครอบครอง หมายถึง กิริยาเข้ายึดถือทรัพย์สิน เช่น เข้าไปปลูกต้นไม้หรือ ทำสวนผลไม้ในที่ดิน เรียกว่าเข้าไปครอบครองแล้ว
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๔๒/๒๕๕๔ โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีเอกสาร ภ.บ.ท.๕ แต่ยังไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่โจทก์นำเจ้าหน้าที่ที่ดิน เข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อรังวัดและนำเสาซีเมนต์ไปปักไว้ ๒ ต้น ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนการเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทไม่ใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทหรือมีสิทธิครอบครอง นอกจากนี้ภริยาโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นผู้ซื้อที่ดินก็ไม่เคยเข้าไปดูแลหรือ เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมอบหมายให้โจทก์ไปดูแลแทนหรือกระทำแทนเท่านั้น เช่นนี้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๗๗/๒๕๕๓ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การที่มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของเป็นเพียงข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์เป็น ผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๓ เท่านั้น ส่วนความจริงผู้ใดจะมีสิทธิ ครอบครองจะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ ในที่ดิน โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนจึงจะได้สิทธิครอบครองตามมาตรา ดังนั้น การที่โจทก์มิได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงแต่มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
๒. เจตนายึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตน ยึดถือเพื่อตนหมายความว่า เจตนา ครอบครองเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยของตนเอง แต่ไม่ถึงกับว่าต้องเจตนาอย่างเป็น เจ้าของทรัพย์ เช่น ผู้เช่าย่อมถือได้ว่ามีการยึดถือหรือครอบครองบ้านเช่านั้นแล้ว และ การเช่านั้นย่อมยึดถือไว้เพื่อประโยชน์ของตนในอันที่จะต้องใช้สอยภายในเวลากำหนดระยะเวลาเช่า ผู้เช่าจึงได้สิทธิครอบครองในบ้านนั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๔/๒๕๓๔ โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ฉ. เพราะมี วัตถุประสงค์ที่จะใช้ขุดเป็นทางระบายน้ำเข้าที่ดินของโจทก์ แม้โจทก์จะไม่ได้ปลูกบ้าน อยู่อาศัยในที่ดินพิพาท แต่การที่โจทก์ได้เข้าทำประโยชน์โดยปลูกต้นไม้ ขุดคูน้ำ ทำทางเดิน ไปทำนา และโจทก์คงใช้ประโยชน์ดังกล่าวในที่ดินพิพาทติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน กรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าโจทก์มีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาท
กรณีอย่างไรจะถือว่าเป็นการยึดถือทรัพย์สินเพื่อตนนั้น ให้พิจารณาจากข้อ เท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป ในกรณีไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดมีเจตนายึดถือเพื่อตนหรือไม่ ต้องสันนิษฐานว่ายึดถือทรัพย์สินไว้โดยเจตนายึดถือเพื่อตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๖๙
ว่า “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน”
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๑๕/๒๕๐๗ ครอบครองที่พิพาทในระหว่างเป็นความกัน จะอ้างว่ายึดถือเพื่อตนไม่ได้ แม้ศาลฎีกาพิพากษาแล้วจะยังครอบครองต่อมา ก็เป็นการครอบครองสืบต่อมาในระหว่างคดีถือว่าครอบครองแทนผู้ชนะคดีไม่ได้สิทธิครอบครอง เว้นแต่จะบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๔๔/๒๕๒๐ จำเลยฝากนาไม่มีหนังสือสำคัญไว้กับน้อง ต่อมาน้องขายนานั้นกับโจทก์ โจทก์ครอบครองมา ๓ ปี ถือเป็นการครอบครองแทนจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในนานั้น (กรณีนี้เข้าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนนั่นเอง)
๓. มาตรา ๑๓๗๓ บัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิ ครอบครอง
คำว่า ทะเบียนที่ดินตามมาตรานี้ หมายถึงทะเบียนที่ดินที่เป็นโฉนดและ ทะเบียนที่ดินที่มีสิทธิครอบครองอย่างเช่น ที่ดินที่มี น.ส.๓ หรือ น.ส.๓ ก.
คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๖๕/๒๕๓๘ ที่พิพาทซึ่งจำเลยครอบครองอยู่เป็น ส่วนหนึ่งของที่ดินตาม น.ส.๓ ก. ที่โจทก์มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ต้องด้วย ข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๓ ว่าโจทก์ซึ่งมีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิ ครอบครอง ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติดังกล่าวรวมถึงที่ดินที่มี น.ส.๓ หรือ น.ส.๓. ก. ด้วย
ส่วนที่ดินมือเปล่าที่มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนที่ดินตามนัย ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๓ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๒๒/๒๕๕๐, ๓๘๘๔/๒๕๕๖) ไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่ดินที่มีหนังสือ การทำประโยชน์ (กสน.๕) เป็นหลักฐานซึ่งออกโดยส่วนจัดนิคมสหกรณ์ในสังกัด กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มิใช่อสังหาริมทรัพย์อันได้จดทะเบียน ที่ดินตามมาตรา ๑๓๗๓ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๓๒๔/๒๕๕๖)