ที่งอกริมตลิ่งเกิดขึ้นได้อย่างไร
การที่จะเป็นที่งอกริมตลิ่งจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๔ ประการ
๑. เป็นที่งอกซึ่งเกิดโดยธรรมชาติ คือ เกิดจากกระแสน้ำพัดเอากรวดทราย เลนตมมาเกาะติดกับที่ดินริมตลิ่งสูงขึ้นจากท้องน้ำและเกิดงอกออกไปที่ละน้อยไม่ใช่ มนุษย์ถมขึ้น ที่ดินซึ่งถมลงไปในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่ที่งอก (คำพิพากษา ฎีกาที่ ๙๒๔/๒๕๐๑)
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๓๔/๒๕๕๑ แม้ที่งอกอันเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ จะเกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลใกล้กับที่ดินของโจทก์ทำให้ เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินดังกล่าวของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มี ส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าว ก็ถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอก ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๘ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๖๖๒/๒๕๕๑, ๗๗๙/๒๕๕๕ วินิจฉัยแนวเดียวกัน)
ข้อสังเกต ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกานี้ที่งอกไม่ได้เกิดจากมนุษย์ถมขึ้น เกิดขึ้นแต่ โดยตรงแต่เกิดจากการที่บุคคลภายนอก (บริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด) สร้างเขื่อนหิน เมื่อประมาณ ปี ๒๕๑๑ ยื่นลงไปในทะเลประมาณ ๑ กิโลเมตรเพื่อกันมิให้ทราย ปิดปากคลอง โดยไม่ได้ประสงค์ให้เกิดที่งอก โดยโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินประธานไม่มี ส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าวและผลจากการสร้างเขื่อนหินนี้ทำให้เกิดการ สะสมตัวของตะกอนทรายอย่างรวดเร็วจนเป็นที่งอกขึ้น กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่งอกเกิดขึ้นตามธรรมชาติ
๒. ต้องงอกจากริมตลิ่งออกไป ไม่ใช่หนองสาธารณะตื้นเขินขึ้นเสมอกับระดับ ที่ดินขอบหนอง เช่นนี้ไม่ถือเป็นที่งอก แต่ยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๕/๒๕๒๓) หรือไม่ใช่ที่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาริมตลิ่ง เช่น ที่ดินตื้นเขินเป็น เกาะในหนองน้ำสาธารณะ แม้ภายหลังริมฝั่งตื้นเขินขึ้นเชื่อมกับที่ดินของผู้ที่อยู่ริมหนองที่ดินแปลงนั้นก็ไม่ใช่ที่งอก (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๑/๒๔๗๗) ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึง ที่ดินที่งอกกรรมสิทธิ์ ออกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากสายน้ำพัดพาดินมาจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่ง จนเกิดที่งอกขึ้น มิใช่งอกจากที่อื่นเข้าหาตลิ่ง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๘๙/๒๕๓๕)
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๙/๒๕๕๔ ที่ดินพิพาทอยู่ต่ำกว่าที่ดินของจำเลยร่วม ๓ ถึง ๕ เมตร ไม่มีลักษณะเป็นที่งอกซึ่งเกิดจากสายน้ำพัดพาดินจากที่อื่นมาทับถมกัน ริมตลิ่งจนเป็นที่งอก ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกออกไปจากริมตลิ่งของที่ดินของจำเลยร่วมตามธรรมชาติ แต่เป็นท้องทางน้ำที่ตื้นเขินเพราะกระแสน้ำในแม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน
๓.ต้องงอกออกไปจากที่ผืนใหญ่โดยไม่มีอะไรคั่น เจ้าของที่ดินจะเป็นเจ้าของที่งอกด้วยก็ต่อเมื่อเป็นที่งอกต่อออกไปจากที่ดินของตน หากมีทางหลวงหรือ ถนนหลวงคั่นอยู่ระหว่างที่งอกกับที่ดินของตนย่อมไม่ถือว่าเจ้าของที่ดินนั้นเป็นเจ้าของที่งอก (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๖๙/๒๔๙๒, ๒๕๓๓๗/๒๕๕๕) ทรายมูลเกิดขึ้นกลางน้ำหน้าที่ดิน แต่มีร่องน้ำคั่นไม่ใช่ที่งอก (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๘๔/๒๔๙๗, ๑๕๓๒/๒๕๕๐๙) แต่กรณี ที่เป็นที่งอกชายตลิ่งแล้ว แม้ต่อมาเจ้าของที่งอกจะอุทิศที่ดินให้เป็นถนนสาธารณะคั่นระหว่างที่ดินของตน หาทำให้กลายเป็นที่งอกจากถนนสาธารณะไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่๑๒๘๙/๒๕๒๓)
๔. ในฤดูน้ำตามปกติน้ำจะต้องท่วมไม่ถึง ถ้าหากน้ำท่วมถึงยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ไม่เป็นที่งอก (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๖/๒๕๐๓, ๑๐๓๕/๒๕๐๖) ถือเป็นที่ชายตลิ่งตามมาตรา ๑๓๐๔ (๒)
ข้อสังเกต
(๑) ถ้าที่ดินอันเป็นทรัพย์ประธานเป็นที่ดินมีโฉนดที่งอกริมตลิ่งก็เป็นกรรมสิทธิ์ ของเจ้าของที่ดินประธาน ดังนั้น การครอบครองปรปักษ์ที่งอกริมตลิ่งดังกล่าวจะได้กรรมสิทธิ์ก็ต่อเมื่อครอบครองครบ ๑๐ ปี
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๙/๒๕๕๓ เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึง จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนน ดังนั้น ก่อนหน้าที่พิพาทเป็น ที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้วโจทก์ครอบครองไม่ถึง กรรมสิทธิ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ ๑๐ ปี โจทก์ย่อมไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๙๖/๒๕๕๙ ที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งงอกออกจาก ที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๑ ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๘
ที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งที่งอกออกจากที่ดินมีกรรมสิทธิ์ การซื้อขายต้องทำ เป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ที่ ๒ เพียงแต่ทำซื้อขายกันเอง ไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับโจทก์ ที่ ๒ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖ วรรคแรก ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ ของโจทก์ที่ ๑ จำเลยทั้งสามเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นการ โต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ ๑ ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสามยึดถือครองครองทำ ประโยชน์ในที่ดินพิพาทยังไม่ถึงสิบปี มิได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์ที่ ๑ จึงมีอำนาจ ฟ้องจำเลยทั้งสาม โจทก์ที่ ๒ แม้จะได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ ๑ ให้เป็นผู้เข้า ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่สืบเนื่องมาจากโจทก์ที่ ๑ ขายที่ดินพิพาทให้แก่ โจทก์ที่ ๒ ซึ่งการซื้อขายตกเป็นโมฆะ โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม
(๒) ถ้าที่ดินประธานเป็นที่ดินที่มีแต่เพียงสิทธิครอบครอง เจ้าของก็มีได้เพียง สิทธิครอบครองเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๔๖/๒๕๒๓) หากมีการแย่งการครอบ ครองก็ต้องฟ้องเอาคืนภายใน ๑ ปี ตามมาตรา ๑๓๗๕
(๓) ที่ดินของเอกชน ที่ถูกน้ำเซาะพังจนเปลี่ยนสภาพเป็นทางน้ำแล้วย่อมเป็น สาธารณสมบัติ ของแผ่นดิน แม้ภายหลังที่ดินจะกลับงอกขึ้นมาใหม่ ผู้ใดจะได้กรรมสิทธิ์ ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาแห่งกรรมสิทธิ์ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๗/ ๒๔๙๐ (ประชุมใหญ่)) ซึ่งตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ต้องเข้าใจว่าที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะ และเป็นทางนำนั้นจะต้องมีสภาพเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันด้วย แต่ถ้า สภาพทางกายภาพเป็นทางน้ำแต่เจ้าของที่ดินยังคงสงวนสิทธิความเป็นเจ้าของโดยไม่ได้ ปล่อยให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินส่วนที่ถูกน้ำกัดเซาะนั้นก็ไม่เป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน