สามีและภรรยามีหน้าที่จัดการทรัพย์สินร่วมกัน
เมื่อเส้นทางของชีวิตคู่ได้เริ่มขึ้นโดยการจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ทั้งสามีและภรรยาจึงมีหน้าที่ต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน นิติกรรมนั้นๆจึงจะสมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 รายละเอียดมีดังนี้
“มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือ โอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกัน หรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้มิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”
และถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่ฝ่ายเดียวโดยที่อีกฝ่ายไม่ได้ยินยอมด้วย นิติกรรมนั้นฝ่ายที่มิได้ยินยอมสามารถบอกล้างนิติกรรมนั้นได้ และหากมีการโกหกหรือแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพื่อให้สามารถทำนิติกรรมได้นั้นมีความผิดข้อหาหรือฐานความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 8739/2552 จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง”
ดังนั้นการเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จะกระทำการใดๆตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จัดการร่วมกันนั้น ต้องปรึกษาหารือกันก่อน การคุยกันคือการเข้าใจและทางออกที่ดีที่สุดนะครับ เพื่อประโยชน์ซึ่งกันและกัน จะได้ไม่มีปัญหาในทางกฎหมาย และสิ่งสำคัญที่สุดคือปัญหาในการใช้ชีวิตคู่จะไม่เกิดขึ้นเพราะเรื่องนี้
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
www.closelawyer.co.th
#ทนายใกล้ตัว