ละเมิดลิขสิทธิ์โดยทางอ้อม มีจริงหรือ ?
เป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้รู้หรือควรรู้ได้ว่า งานนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ยังนำมาแสวงหา ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการกระทำตามมาตรานี้ประสงค์ได้รับประโยชน์ในการแสวงหา กำไร หรือไม่ได้แสวงหากำไรแต่ทำในปริมาณมากจนก่อให้เกิดความเสียหายกับเจ้าของลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 บัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใด อย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือ เสนอให้เช่าซื้อ
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
(4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร”
ข้อพิจารณา
1. การละมิดโดยอ้อมตามมาตรา 31 จะต้องเป็นการกระทำต่องานที่ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่แล้วเท่านั้น มิใช่ กระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ หากเป็นการกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ต้องไปใช้มาตรา 27 ถึงมาตรา 30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4250/2542 จำเลยรู้อยู่แล้ว หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าแผ่นซีดี-รอมที่จำเลยร่วมกับพวกขายและเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปนั้นเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นและการที่สินค้าเหล่านี้ไม่มีฉลากจำเลยก็ ทราบว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะทางราชการได้ประกาศให้ประชาชนทราบในราชกิจจานุเบกษาแล้ว การกระทำของจำเลย จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) (2) มีโทษตามมาตรา 70 วรรค สอง ไม่ผิดตามมาตรา 28, 30 และ 69 เนื่องจากจำเลยไม่ได้กระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดยตรง หากแต่กระทำแก่งานที่บุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่แล้ว แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์อ้างฐาน ความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรค ห้า ประกอบด้วยมาตรา 225 และ 215 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 และจำเลยยังมีความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ มาตรา 30 (2) และ 52 วรรคหนึ่ง ด้วย ความผิดตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ไม่ได้จำกัดว่าผู้กระทำ ความผิดจะต้องเป็นเจ้าของร้านหรือผู้จัดการร้านเท่านั้น ลูกจ้างหรือใครก็ตามหากรู้อยู่แล้ว หรือมีเหตุอันควรรู้ว่า สินค้าใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นแล้วยังนำออกขายหรือเสนอขายให้แก่ประชาชน เพื่อหากำไร ถือ ว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์
2. หากมีผู้นำสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียง ของผู้อื่นมาทำซ้ำ จะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงนั้นหรือไม่ กรณีนี้แม้ มาตรา 31 จะไม่ได้บัญญัติถึงการทำไว้ และแม้ว่าการทำซ้ำนั้นเป็นการกระทำแก่สิ่งบันทึกเสียงที่ได้ทำขึ้นโดย ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นก็ตาม แต่ก็คงต้องถือว่าเป็นการทำงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งบันทึกอยู่ในสิ่ง บันทึกเสียงนั้น และเป็นการทำซ้ำต่อสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็น การละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงตามมาตรา 27 (1) และมาตรา 28 (1)
3. บุคคลที่กระทำการอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทางตรงไปแล้ว หากมีการนำงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ซึ่งตนได้ทำขึ้นมานั้น มากระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 31 อีก ก็ถือว่าบุคคลนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ทางอ้อมด้วย
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
ละเมิดลิขสิทธิ์โดยทางอ้อม มีจริงหรือ ?