closelawyer@gmail.com       080-919-3691

นิติกรรมอำพราง คือ นิติกรรมอันหนึ่งที่ทำขึ้นด้วยเจตนาลวง เพื่อปิดบังนิติกรรมอีกอันหนึ่งที่ทำขึ้นด้วยเจตนาอันแท้จริง ซึ่งกฎหมายให้บังคับตามกฎหมายเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้น

 

ซึ่งหากไม่ได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง แต่มีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งเเต่ต้น สัญญาขายที่ดินจึงตกเป็นโมฆะ และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่ลูกหนี้กู้ยืมไปจากเจ้าหนี้ โดยให้ที่ดินแก่เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะจึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินยังเป็นของลูกหนี้

แม้การขายที่ดินจะตกเป็นโมฆะ ต้องเพิกถอนสัญญาขาย เป็นผลให้ที่ดินยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ก็ตาม แต่หากเจ้าหนี้ได้ขายที่ดินให้บุคคลภายนอกไปก่อนแล้ว ซึ่งบุคคลภายนอกรับโอนที่ดินมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว และไม่ปรากฏว่าบุคคลภายนอกจะได้รู้ว่าลูกหนี้และเจ้าหนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง บุคคลภายนอกจึงเป็นผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวง ย่อมได้รับคุ้มครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ลูกหนี้จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างเจ้าหนี้กับบุคคลภายนอกได้

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 1335/2561

เมื่อโจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน และย่อมถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะจึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินยังเป็นของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 2514/2561

ดอกเบี้ยที่โจทก์ผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน เป็นเงิน 2,100 บาท หรือเท่ากับ 25,200 บาท ต่อปี เมื่อนำไปรวมกับต้นเงิน 70,000 บาท เป็นเงิน 95,200 บาท เป็นจำนวนใกล้เคียงกับราคาสินไถ่ 95,000 บาท การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยทุกเดือน จึงเป็นการชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้และแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่ต้น ไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝาก การนำโฉนดที่ดินมาวางเป็นเพียงให้จำเลยที่ 1 ยึดถือประกันหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น สัญญาขายฝากที่ทำไว้จึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง

 

แม้การขายฝากที่ดินจะตกเป็นโมฆะ ต้องเพิกถอนสัญญาขายฝาก เป็นผลให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ไปก่อนแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่ารับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว ประกอบกับโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต และจากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้รู้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทกันจริง จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวง ย่อมได้รับคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย โจทก์จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi

ทำสัญญาขายที่ดินอำพรางการกู้ยืมเงิน ต้องบังคับตามสัญญาใด และหากเจ้าหนี้เอาที่ดินของลูกหนี้ที่โอนให้ไว้เป็นประกันการกู้ไปขายให้คนอื่น จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร
Scroll to top
error: Content is protected !!