ชายหญิงไม่จดทะเบียนสมรสทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ไม่เป็นสินสมรสแต่เป็นกรรมสิทธิ์รวม
การที่ชายและหญิงสมัครใจอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา โดยที่ไม่มีการจดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันนี้ตามกฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสมรส แต่ในทางกฎหมายทรัพย์สินที่แต่ละฝ่ายหรือทั้งสองฝ่ายร่วมกันทำมาหาได้ในระหว่างนี้ถือเป็น กรรมสิทธิ์รวม
ในการนี้กฎหมายรวมไปถึงการที่ชายและชาย หรือหญิงและหญิง ที่ได้อยู่กินรวมกันเป็นคู่รัก โดยให้ถือว่าทรัพย์สินที่ทั้งสองฝ่ายทำมาหาได้ร่วมกันเป็นกรรมสิทธิ์รวม
เมื่อทรัพย์สินที่ทำมาหาได้รวมกันนี้เป็นกรรมสิทธิ์รวม แม้จะมีการระบุชื่อลงไปในทรัพย์สินนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว เช่น ชายและหญิงอยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาได้ชื่อโฉนดที่ดินโดยระบุชื่อฝ่ายชายแต่เพียงคนเดียวลงในโฉนดที่ดิน ก็ยังถือว่าแต่ละฝ่ายมีสิทธิในที่ดินที่ซื้อมาคนละครึ่งเช่นกัน หากต่อมาทั้งสองฝ่ายเลิกกัน โดยฝ่ายหญิงเอาที่ดินไปใช้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว ฝ่ายชายสามารถที่จะฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิในที่ดินนั้นได้
คำพิพากษาฎีกา 2102/2551 การแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยาของ จ. กับ อ. เป็นการอยู่กินกัน โดยมิได้จดทะเบียนสมรส อ. จึงมิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ จ. ต่อมาภายหลังได้แยกกันอยู่โดยการใช้ชีวิตประจำวันของ อ. อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วน จ. ประกอบธุรกิจและพักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร การที่โจทก์อ้างว่าที่ดินและหุ้นพิพาทของ จ. เป็นทรัพย์สินที่ อ. ทำมาหาได้ ร่วมกันกับ จ. โดยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างสามีภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องได้ความว่า สามีภริยาต่างมีส่วนร่วมกันในการทำมาหาได้ในทรัพย์สินนั้นด้วยกัน หาใช่ว่าทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ถือว่าสามีภริยาต่างมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นคนละครึ่งหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากเรื่องของสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะกฎหมายบัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินอันสามีภริยาได้มาระหว่างสมรสว่าเป็นสินสมรส โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้ให้เห็นการมีส่วนร่วมในการทำมาหาได้ ของ อ. ด้วย
คำพิพากษาฎีกา 2102/2551 เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทรวมกับโจทก์ที่ปลูกอยู่บนที่ดิน ๒ แปลง ซึ่งมีรั้วล้อมรอบที่ดินโดยที่ดินแปลงหนึ่งจำเลยได้รับการยกให้จากมารดา อีกแปลงหนึ่งคือที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ได้รับยกให้จากน้องชายจำเลยโดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้โจทก์ยอมรับบุตรของน้องชายจำเลยเป็นบุตรของโจทก์ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแม้โจทก์จะมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวก็ตาม แต่โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาในระหว่างที่อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยโดยได้รับการยกให้จากน้องชายจำเลยด้วยความสัมพันธ์และข้อแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลในครอบครัว ทั้งสองฝ่ายได้ครอบครองร่วมกันมาระหว่างอยู่กินด้วยกัน ถือว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โจทก์จำเลยจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกันคนละครึ่ง
คำพิพากษาฎีกา 2102/2551 จำเลยกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่ต้องพิจารณาว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ คงต้องพิจารณาเฉพาะเรื่องกรรมสิทธิ์รวมว่าเป็นทรัพย์สินที่ซื้อหามาด้วยเงินที่ร่วมกันทำมาหาได้หรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ตายได้รับมาโดยการรับมรดกและโดยการให้โดยเสน่หา ย่อมไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ตายเพียงผู้เดียว
พินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นโดยใช้พิมพ์ดีดทั้งฉบับ ย่อมไม่ใช่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 คงเป็นแต่พินัยกรรมแบบธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 ที่ต้องมีพยานรู้เห็นซึ่งมาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน การที่พยานในพินัยกรรมพิพาทลงลายมือชื่อเป็นพยานภายหลังจึงขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าวพินัยกรรมพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705
คำพิพากษาฎีกา 516/2508 หญิงชายอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสได้ร่วมกันซื้อนาและทำกินเป็นการแสดงเจตนาให้ถือได้ว่าเป็นเจ้าของร่วมกันส่วนเงินที่ซื้อฝ่ายใดจะยืมใครมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์ เพราะหญิงชายนั้นระคนปนทรัพย์กันใช้สอยและทำมาหากินด้วยกัน ต้องถือว่าต่างมีสิทธิเป็นเจ้าของคนละครึ่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 “ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน”
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
ชายหญิงไม่จดทะเบียนสมรสทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ไม่เป็นสินสมรสแต่เป็นกรรมสิทธิ์รวม