จำนอง เป็นหลักประกันหนี้อีกประการหนึ่ง การจำนองคือการที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนองเอาอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ ที่ดิน บ้านเรือน เป็นต้น ไปตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนองหรือนัยหนึ่งผู้จำนองเอาทรัพย์สินไปทำหนังสือจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนองให้เจ้าหนี้ผู้จำนองอาจเป็นตัวลูกหนี้เอง หรือจะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ จะเห็นได้ว่า การจำนองนั้นผู้จำนองซึ่งลูกหนี้ได้ส่งมอบโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3 ให้เจ้าหนี้ยึดหน่วงไว้เป็นประกันการชำระหนี้ เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 714 แต่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิตามสัญญาที่จะยึดเอกสารนั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้
อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 168/2518 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์โจทก์ตามสัญญาจ้าง ปล่อยปละละเลยให้มีการขายบุหรี่โดยไม่ได้รับชำระราคา กรณีดังนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการบกพร่องอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาจ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับจำนองจากทรัพย์จำนองอันเป็นประกันค่าเสียหายนั้นได้
ร้านสหกรณ์โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินค้าไปแล้วแต่หาได้มีการลงบัญชีรับสินค้าไว้ไม่ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการอาจไม่ได้นำสินค้าเข้าร้านสหกรณ์ก็ได้ สินค้าบางรายการลงบัญชีจ่ายเงินซ้ำสองครั้ง เงินสดคงเหลือตามบัญชีจึงผิดไปจากความเป็นจริงร้านสหกรณ์โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจากการจัดทำบัญชีขัดกับใบสำคัญ ซึ่งทำให้มีการจ่ายเงินไปโดยไม่มีความจำเป็นจะต้องจ่ายจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้อย่างบกพร่องอันจะต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วยดุจกัน จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของสมุหบัญชีที่ไม่ลงบัญชีให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของตนนั้นย่อมเถียงไม่ขึ้นเพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องควบคุมสอดส่องการทำบัญชีของร้านสหกรณ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับโดยใกล้ชิด
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ ก็ย่อมกระทำได้
แต่หากหนี้นั้นขาดอายุความหรือพ้นกำหนด 10 ปีที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาก็ไม่มีมูลหนี้ที่เจ้าหนี้จะยึดโฉนดของลูกหนี้ไว้อีกต่อไป ลูกหนี้มีสิทธิฟ้องเรียกโฉนดคืนได้
อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2522 แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์ได้กู้เงินจำเลยและได้มอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันการกู้เงิน ตามสัญญากู้มิได้กำหนดวันชำระเงินไว้ สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่จะให้โจทก์ชำระเงินตามสัญญากู้ เริ่มนับตั้งแต่วันกู้เป็นต้นไป และมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 นับตั้งแต่วันกู้เงิน ถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้ว จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดฉบับพิพาทของโจทก์ไว้ขาดอายุความเสียแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดไว้เป็นประกันหนี้นั้นต่อไป
การที่โจทก์กู้เงินและมอบโฉนดให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ ไม่เข้าลักษณะจำนำ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 189 จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดของโจทก์ไว้ต้องคืนให้โจทก์ (วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2521)
ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi