closelawyer@gmail.com       080-919-3691

กรณีศึกษาจากเรื่องจริง สู้คดีเงินกู้อย่างไร ให้ศาลยกฟ้อง

ตอนที่ 1 #กรอกจำนวนเงินในสัญญากู้ไม่ตรงกับจำนวนเงินที่กู้กันจริง #ถือเป็นเอกสารปลอม #ผู้ให้กู้ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กู้ได้

เมื่อประมาณต้นเดือนเมษายน 2560 จำเลยได้เข้ามาปรึกษาผมที่สำนักงาน เพื่อให้ผมต่อสู้คดีเงินกู้ให้ เรื่องมีอยู่ว่า โจทก์และจำเลยเป็นญาติพี่น้องเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ต่างฝ่ายต่างรับราชการครู โจทก์รับราชการอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ส่วนจำเลยรับราชการอยู่ที่จังหวัดลพบุรี โจทก์และจำเลยทำอาชีพเสริมโดยการปล่อยเงินกู้ จำเลยจะกู้เงินจากโจทก์มาเพื่อปล่อยกู้ให้บรรดาครูๆที่โรงเรียน โดยคิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 5 ต่อเดือน ส่วนจำเลยจะนำเงินกู้ไปปล่อยกู้ต่อคิดอดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน

ก่อนเกิดเหตุฟ้องคดีนี้ จำเลยกู้เงินจากโจทก์มาเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท แต่ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินไว้ และก็ทยอยใช้คืนไปเรื่อยๆ ต่อมาเดือนมกราคม 2559 จำเลยทักแชทไปหาโจทก์ขอกู้ยืมเงินอีก 150,000 บาท และต่อมาทักแชทไปขอกู้อีก 50,000 บาท รวมเป็น 200,000 บาท โดยโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีจำเลย 2 ครั้ง คือ 150,000 บาท และ 50,000 บาท ส่งดอกเบี้ยเดือนละ 10,000 บาท โดยจำเลยส่งดอกเบี้ยให้โจทก์ 3 เดือน คือเดือนกุมภาพันธ์ เดือนมีนาคม และเดือนเมษายน 2559 รวม 30,000 บาท ในเดือนพฤษภาคม 2559 จำเลยขาดส่งดอกเบี้ย ต่อมาเดือนมิถุนายน 2559 โจทก์จึงเดินทางจากจังหวัดปราจีนบุรีมาหาจำเลยที่บ้านจังหวัดลพบุรี เพื่อนำสัญญากู้มาให้เซ็น โดยยังไม่มีการกรอกข้อความใดๆ ในสัญญากู้เงิน จำเลยเห็นว่าเป็นญาติพี่น้องกันจึงเซ็นชื่อไปโดยไม่ได้มีความระแวงสงสัยอะไร

ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2560 จำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โดยโจทก์นำสัญญากู้เงินที่จำเลยเซ็นชื่อในแบบฟอร์มสัญญากู้เปล่า มากรอกข้อความภายหลังเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท โดยอ้างว่า วันที่นำสัญญากู้มาให้เซ็นนั้น จำเลยขอกู้อีก 300,000 บาท โดยมอบเป็นเงินสดให้จำเลย ซึ่งความจริงแล้ว จำเลยไม่ได้กู้เงิน 300,000 บาท และไม่ได้รับเงินในวันเซ็นสัญญา (ความจริงเรื่องนี้ ทนายโจทก์ตั้งรูปคดีผิด ควรตั้งรูปคดีว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้งประมาณ 300,000 บาท อีก 150,000 และกู้อีก 50,000 บาท รวมเป็น 500,000 บาท แล้วโจทก์นำสัญญากู้ยืมมาให้จำเลยเซ็นชื่อในภายหลัง แล้วนำสืบให้ได้ว่ากู้เงินไปครบ 5 แสน )

เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความแล้ว ผมก็ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีไป โดยสู้ว่า จำเลยกู้เงินโจทก์จริง แต่กู้เพียง 200,000 บาท เท่านั้น โจทก์คิดดอกร้อยละ 5 ต่อเดือน คิดเป็นดอกเบี้ย 10,000 บาท รวม 3 เดือน สอดคล้องกับยอดเงินโอนเข้าบัญชีโจทก์จำนวน 10,000 บาท รวม 3 เดือน คือ กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน ต่อมาเดือนมิถุนายน 2559 โจทก์นำสัญญามาให้เซ็นชื่อหลังจากจำเลยผิดนัดชำระดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม 2559 แล้ว แต่จำเลยเซ็นชื่อในสัญญากู้ไว้โดยมิได้กรอกข้อความใดๆในสัญญากู้ และไม่เคยกู้เงินโจทก์ 300,000 บาท ในวันเซ็นสัญญากู้ ต่อมาโจทก์นำสัญญากู้ไปกรอกข้อความและจำนวนเงินกู้สูงกว่าที่กู้กันจริง สัญญากู้จึงเป็นเอกสารปลอม ถือว่าไม่มีสัญญากู้เงิน ไม่อาจฟ้องบังคับได้ ขอให้ศาลยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจาณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง เพราะโจทก์เบิกความกลับไปกลับมา ตอนนำสืบบอกว่าเงิน 300,000 บาท กู้มาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ แต่พอตอบทนายจำเลยถามค้าน บอกว่าเป็นเงินเก็บสะสม อีกทั้ง เมื่อจำเลยผิดนัดชำระดอกเบี้ยแล้ว ผิดวิสัยที่โจทก์จะนำเงิน 300,000 บาท มาให้จำเลยกู้ยืมอีก แม้จำเลยจะให้การยอมรับว่าได้รับเงินมาจากโจทก์ 200,000 บาท ก็ไม่ต้องรับผิดชำระเงินคืนโจทก์ เพราะถือว่าสัญญากู้เป็นเอกสารปลอม ถือว่าไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงิน ฟ้องบังคับไม่ได้

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นว่า โจทก์เบิกความกลับไปกลับมา ตอนนำสืบบอกว่าเงิน 300,000 บาท กู้มาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ แต่พอตอบทนายจำเลยถามค้าน บอกว่าเป็นเงินเก็บสะสม อีกทั้งไม่หน้าเชื่อว่า ด้วยอาชีพครูที่มีรายด้ายจากเงินเดือนจะมีเงินเก็บมากถึงขนาดนั้น จึงพิพากษายืน ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ไม่ฎีกา คดีจึงถึงที่สุดแล้วครับ

ดูตัวอย่างคำฟ้อง สัญญากู้เงิน คำให้การจำเลย คำให้การพยานโจทก์ คำให้การพยานจำเลย คำพิพากษาศาลชั้นต้น และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่รูปภาพได้เลยครับ

สำหรับเรื่องนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐาน ดังนี้ ครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2692/2522

จำเลยกู้เงินไป 8,000 บาท โจทก์ให้จำเลยลงชื่อในช่องผู้กู้โดยมิได้กรอกข้อความอื่นในสัญญากู้ ต่อมาโจทก์จึงกรอกข้อความในสัญญากู้และเขียนจำนวนเงินที่กู้เป็น 80,000 บาท แล้วฟ้องเรียกเงินจากจำเลย สัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่อาจแสดงสิทธิจากเอกสารปลอมได้ ถือได้ว่าการกู้เงินระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม จึงไม่อาจฟ้อง ร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2526

จำเลยกู้เงินโจทก์ 30,000 บาท โจทก์ให้จำเลยลงชื่อในช่องผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโดยมิได้กรอกข้อความเมื่อข้อความและจำนวนเงิน 40,000 บาท ที่กรอกในหนังสือสัญญากู้ถูกเขียนขึ้นภายหลัง ไม่ตรงต่อความเป็นจริงและโดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมย่อมเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่อาจแสวงสิทธิจากเอกสารปลอมได้ถือได้ว่าการกู้เงินระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653

ผมขออธิบายเพิ่มเติมนะครับ เรื่องนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อสัญญากู้ดังกล่าวถือเป็นเอกสารปลอม จึงเท่ากับว่าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 653 ดังนั้น แม้ผู้กู้จะยอมรับว่ามีการกู้เงินตามจำนวนที่กู้กันจริงก็ตาม ผู้ให้กู้ก็ไม่อาจนำเอกสารปลอมดังกล่าวมาฟ้องบังคับคดีได้ เพราะเอกสารมันปลอมไปแล้ว ทางกฎหมายถือว่าไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงิน มันจึงฟ้องไม่ได้ไงละครับ

หากใครเห็นว่าบทความนี้ หรือ ตัวอย่างการสู้คดีของผมเป็นประโยชน์ สามารถนำไปปรับใช้ได้ และอย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจในการเขียนบทความต่อไปด้วยนะครับ

 

บทความโดย ทนายนิค ทนายใกล้ตัว

ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi

 

กรอกจำนวนเงินในสัญญากู้ ไม่ตรงกับจำนวนเงินกู้กันจริง สัญญากู้ถือเป็นเอกสารปลอม ฟ้องบังคับไม่ได้
Scroll to top
error: Content is protected !!