closelawyer@gmail.com       080-919-3691

การขอให้ถอนผู้จัดการมรดก

         ผู้จัดการมรดก คือ ใคร? ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้ง ตามคำร้องขอของทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดก หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือตามพินัยกรรม โดยผู้จัดการมรดกไม่จำเป็นต้องเป็นทายาท หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกองมรดก ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป และมีหน้าที่รวบรวมมรดก เพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ติดตามหนี้สินที่เจ้ามรดกเป้นเจ้าหนี้ ทำบัญชีมรดกและรายการแสดงบัญชีการจัดการ โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้

ความสิ้นสุดของการเป็นผู้จัดการมรดก
1.ตาย หรือเสียชีวิต
2.ตกเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น บุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต หรือเสมือนไร้ความสามารถ
3.ลาออก ซึ่งต้องยื่นคำร้อง และได้รับอนุญาตจากศาล แต่หากในระหว่างทำหน้าที่ แล้วมีความเสียหายในการจัดการเกิดขึ้น ก็ยังต้องรับผิดชอบ
4.ศาลมีคำสั่งถอน “ผู้จัดการมรดก” อาจโดยคำร้องของทายาทคนอื่น
5.การจัดการมรดกสิ้นสุดลง นับตั้งแต่ ผู้จัดการมรดก ได้โอนมรดก “ทั้งหมด” ให้กับทายาทไป โดยเป็นการเริ่มนับอายุความจัดการมรดก 5 ปี
 
        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือ เพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดก เสร็จสิ้นลง แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี ผู้จัดการมรดกจะลาออกจาก ตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล
 
         ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 การให้อนุมัติ การปลดเปลื้องความรับผิด หรือข้อตกลงอื่น ๆ อันเกี่ยวกับรายงานแสดงบัญชีการจัดการมรดกดังที่บัญญัติไว้ในมาตร1732 นั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อรายงานแสดงบัญชีนั้นได้ส่งมอบล่วงหน้าแก่ทายาทพร้อมด้วยเอกสารอันเกี่ยวกับการนั้นไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนแล้ว
 
คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง
 
        ฎีกาที่ 4067/2560 การที่ศาลใช้ดุลพินิจตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น นอกจากจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ศาลยังจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการนั้นด้วย ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์จากการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้ตายแต่ผู้เดียวสูงถึง 22,000,000 บาทเศษ อันเป็นเรื่องผิดปกติทั้งๆ ที่ผู้คัดค้านเป็นภริยาซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนผู้ตายจะเสียชีวิตเพียง 2 ปีเศษ อีกทั้งสาเหตุที่ผู้ตายถูกคนร้ายยิงจนถึงแก่ความตายยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าผู้คัดค้านมีส่วนรู้เห็นที่ผู้ตายถูกยิงหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยถึงความน่าเชื่อถือในตัวผู้คัดค้านว่าสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ส่วนการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย และกิจการโรงเรียนกวดวิชาขาดทุนและปิดกิจการไปแล้ว ประกอบกับการที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านข้อหาเบิกความเท็จ แสดงว่าต่างมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย การจัดการมรดกร่วมกันมีข้อขัดข้อง ไม่อาจจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันต่อไปได้ ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการต่อไปประกอบการตั้งผู้จัดการมรดกหรือการเพิกถอนผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่ง ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน และเมื่อประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านละเลยต่อหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
 
         ฎีกาที่ 13399/2556 การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดในกองมรดกต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการปันทรัพย์มรดกรายนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้วก่อนที่ผู้คัดค้านจะมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เพราะผู้ร้องยักยอกทรัพย์มรดกไปเป็นของผู้ร้องและสามีเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการจัดการมรดกโดยทุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้ออ้างดังกล่าวอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่หาเป็นเหตุทำให้การจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นลงแต่อย่างใด ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับเป็นการขยายอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ออกไปอีกไม่สิ้นสุดเพราะเหตุที่กองมรดกอยู่ในระหว่างจัดการโดยมีผู้จัดการมรดกครอบครองแทนตามมาตรา 1748
 
         ฎีกาที่ 593/2535 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 เป็นเรื่องที่ผู้จัดการมรดกเข้ารับตำแหน่งแล้ว ละเลยไม่จัดการมรดกตามหน้าที่ จึงให้สิทธิผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ คำร้องของ ผู้ร้องซึ่งขอให้ถอน ป. จากการเป็นผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม บรรยายว่า ป. ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมปฏิเสธที่จะจัดการมรดก เป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกไม่เต็มใจเข้าจัดการมรดกโดยไม่เข้ารับหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะร้องขอถอนผู้จัดการมรดกได้ ศาลย่อมยกคำร้องดังกล่าวได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน
 
        ฎีกาที่ 3824/2534 คดีร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1727บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียต้องร้องขอก่อนการปัน มรดก เสร็จสิ้นกรณีมิใช่คดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก หรือคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 และ 1733 ที่จะนำอายุความตามมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับ
 
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
การขอให้ถอนผู้จัดการมรดก
Scroll to top
error: Content is protected !!