closelawyer@gmail.com       080-919-3691

หนังสือบริคณห์สนธิ เป็นเอกสารสำคัญด่านแรกของการก่อตั้งบริษัท เพราะมันคือเอกสารเพื่อแสดงเจตจำนงของบริษัท ว่าเราทำบริษัทขึ้นด้วยเหตุผลใด จุดประสงค์อยู่ตรงไหน รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทของเราตั้งแต่ชื่อบริษัท ผู้ก่อตั้ง ที่อยู่ของบริษัท วัตถุประสงค์ ทุนจนทะเบียนบริษัท และอีกมากมาย เพื่อแสดงต่อรัฐให้รับทราบและดำเนินการต่อไป

การแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ

  1. ออกหนังสือนัดประชุม โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 1 คราว และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับหรือส่งมอบถึงตัวผู้ถือหุ้น (ก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน และระบุวาระการประชุมเรื่องที่จะแก้ไขให้ครบถ้วน)
  2. จัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยที่ประชุมมีมติพิเศษด้วยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน (ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่า 3/4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน)
  3. จัดทำคำขอจดทะเบียน และยื่นขอจดทะเบียน

 

หากยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ โดยอ้างว่ามีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิซึ่งไม่เป็นความจริง มีความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ

 

ตัวอย่าง

การที่จำเลยทั้งสองไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่ามีการบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นโดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับส่งมอบให้แก่ตัวผู้ถือหุ้นแล้ว และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิโดยไม่เป็นความจริง การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง ถือได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 เมื่อจำเลยทั้งสองได้ใช้เอกสารที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครรับดำเนินการจดทะเบียนให้ตามคำขอของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามมาตรา 268 วรรคแรกด้วย

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 168/2561

การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1145 และมาตรา 1146 กำหนดว่า จะกระทำได้ต่อเมื่อมีการลงมติพิเศษซึ่งจะต้องมีการประชุมใหญ่โดยมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษและกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องจัดให้ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ เหตุที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องนำเรื่องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการเข้าใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการที่ลงชื่อเป็นสำคัญผูกพันบริษัท เป็นกรณีที่จำต้องใช้เอกสารยืนยันอำนาจของกรรมการที่ลงชื่อผูกพันบริษัท เป็นพยานหลักฐานที่มีการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นที่เชื่อถือได้ในทางกฎหมาย เพราะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก

 

เนื่องจากกิจการของจำเลยที่ ๑ มิได้เป็นเพียงนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งมาจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวข้องแต่เฉพาะโจทย์ทั้งหก จำเลยที่ ๒ ป. และ อ. เท่านั้น แต่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจการค้าและให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน ที่พักอาศัย อาคารชุด อาคารพาณิชย์และอื่นๆ จำเลยที่ ๑ จึงต้องมีการติดต่อสัมพันธ์และทำธุรกรรมทางการเงินกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นด้วย ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นนั้น และอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงินและธุรกิจการค้าต่อบุคคลภายนอกได้ จึงไม่อาจอ้างความเคยชินและความไว้วางใจระหว่างผู้ถือหุ้นถือเป็นประเพณีปฏิบัติของจำเลยทั้งสอง ซึ่งในการเช่นนั้นตลอดมาเพื่อเป็นข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

 

อีกทั้งการที่จำเลยทั้งสองมอบอำนาจให้ น. ไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครโดยอ้างว่ามีการบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นโดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับส่งมอบให้แก่ตัวผู้ถือหุ้นแล้ว และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิโดยไม่เป็นความจริง การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง ถือได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๒๖๗ เมื่อจำเลยทั้งสองได้ใช้เอกสารที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครรับดำเนินการจดทะเบียนให้ตามคำขอของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรกด้วย

ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi

ยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ โดยอ้างว่ามีการประชุมวิสามัญและมีมติพิเศษให้แก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิซึ่งไม่เป็นความจริง มีความผิดตามกฎหมายอาญาฐานใด
Scroll to top
error: Content is protected !!