ใครเป็นใครในสัญญาประกันภัย
ในสัญญาประกันภัยรูปแบบต่างๆ จะมีบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยกัน ได้แก่ “ผู้รับประกันภัย” “ผู้เอาประกันภัย” “ผู้รับประโยชน์” ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๖๒ บัญญัติว่า “ตามข้อความในลักษณะนี้
คำว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้
คำว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
คำว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจํานวนเงินใช้ให้
อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”
ปัจจุบันการประกอบธุรกิจประกันภัยไม่ว่าจะเป็นประกันวินาศภัยทั่วไป หรือประกันชีวิต ก็ตาม ต้องกระทำในรูปบริษัท ผู้รับประกันภัยจึงได้แก่บริษัทที่ต้องจดทะเบียน และได้รับใบอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจด้านนี้ได้เท่านั้น ฉะนั้นหากมีผู้รับประกันภัยในลักษณะเป็นการค้าที่มิใช่บริษัท และไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ย่อมเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และถือว่าเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐
สำหรับผู้เอาประกันภัย กฎหมายบัญญัติว่า ได้แก่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย หมายความว่า ผู้ที่ตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยนั้นจะต้องมีเจตนาเข้าผูกพันเป็นคู่สัญญาด้วย จึงจะเรียกว่าเอาประกันภัย ซึ่งมีสิทธิต่างๆ ในฐานะคู่สัญญา หากได้ความแต่เพียงว่าเป็น ผู้ส่งเงินเบี้ยประกันภัยเท่านั้น อาจไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยตามความหมายของกฎหมายก็ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕/๒๕๒๗ ห้าง ศ. เป็นคู่สัญญาเอาประกันภัยรถยนต์ไว้แก่จำเลย ที่ ๒ โดยมีจำเลยที่ ๑ ผู้เช่าซื้อรถดังกล่าวจากห้าง ศ. เป็นผู้ออกเบี้ยประกันภัยตามข้อตกลงใน สัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ ๑ จึงหาใช่ผู้เอาประกันภัยตามความหมายของมาตรา ๖๒ แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันจะทำให้จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับจำเลย ที่ ๑ ตามมาตรา ๘๘๗ ไม่
ข้อสังเกต จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ส่งเบี้ยประกันภัยก็จริง แต่โดยพฤติการณ์ต้องถือว่าเป็น การกระทำแทนห้าง ศ. ฉะนั้นห้าง ศ. จึงเป็นผู้เอาประกัน ส่วนจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ผู้เอาประกัน
ส่วนผู้รับประโยชน์นั้น ถ้าเป็นบุคคลคนเดียวกับผู้เอาประกันภัยก็มีสิทธิเรียกร้องประโยชน์ จากผู้รับประกันภัยได้ทันทีในฐานะคู่สัญญา แต่ถ้าผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลภายนอกก็ต้องแสดง เจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากผู้รับประกันเสียก่อนจึงจะมีสิทธิ เมื่อมีสิทธิแล้วสามารถใช้สิทธิโดยตรง ต่อผู้รับประกันภัยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔
ถ้าผู้รับประโยชน์อันเป็นบุคคลภายนอกไม่แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์ ในระหว่าง นั้นมีเหตุเกิดขึ้นตามเงื่อนไขในสัญญา หากผู้รับประกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันไปแล้ว ภายหลังผู้รับประโยชน์จะมาแสดงเจตนาเพื่อให้เกิดสิทธิอีกไม่ได้ เพราะถือว่าสิทธิของผู้รับประโยชน์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วตามมาตรา ๓๗๕
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๐๖/๒๕๑๖ การที่สมาชิกสมาคมต้องชำระค่าบำรุงแก่สมาคม เป็นรายปีไปและต้องชำระเงินช่วยการกุศลแรกเข้ากับต้องชำระเงินค่าช่วยในการทำศพให้แก่สมาชิก ที่ถึงแก่กรรม เมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม ทายาทมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากสมาคมตามจำนวน สมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดในวันที่สมาชิกถึงแก่กรรม โดยสมาคมหักร้อยละ ๒๐ เช่นนี้เงินที่สมาชิก ชำระมีลักษณะเป็นเบี้ยประกัน และสมาคมจ่ายเงินให้โดยอาศัยความมรณะของสมาชิก การดำเนิน กิจการของสมาคมจึงมีลักษณะเป็นการประกันภัย
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
ใครเป็นใครในสัญญาประกันภัย