closelawyer@gmail.com       080-919-3691

การยืม เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคู่กรณีเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้ยืม” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ยืม”

สัญญายืมนั้น เป็นสัญญาที่ผู้ให้ยืมส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืมเพื่อใช้สอยทรัพย์สินนั้นและผู้ยืมก็ตกลงว่าจะส่งคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว การกู้ยืมเงินหรือสัญญากู้ยืมเงิน เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ที่ “ผู้กู้ยืม” ไปขอกู้ยืมเงินจากบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ผู้ให้กู้ยืม” โดยผู้กู้ยืมสัญญาหรือตกลงว่าจะใช้เงินคืนให้ภายในกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งในการกู้ยืมเงินนี้จะมีการกำหนดดอกเบี้ยในการกู้ยืมด้วยหรือไม่ก็ได้ และสัญญากู้ยืมเงินจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมกันแล้ว

 

ซึ่งการจะเป็นหนังสือสัญญาได้ต้องมีการลงลายมือชื่อทั้งฝ่ายผู้กู้และผู้ให้กู้ แต่หากในเอกสารนั้นมีเพียงลายมือชื่อผู้กู้เพียงฝ่ายเดียว ไม่มีลายมือชื่อผู้ให้กู้ เอกสารดังกล่าวคงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ แต่ไม่ใช่หนังสือสัญญากู้ยืมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมาย มาตรา 653 วรรคหนึ่ง กำหนดเพียงแค่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ก็สามารถฟ้องบังคับคดีได้แล้ว

 

ต่อมาประเด็นเรื่องการปิดอากรแสตมป์ เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการฟ้องร้องบังคับคดี โดยที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 118  บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ  คู่ฉบับ  คู่ฉีก  หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้  จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้  และขีดฆ่าแล้ว  แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114”  คำว่า  ตราสารดังกล่าวหมายความถึงหนังสือสำคัญแสดงสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย  หากเป็นเรื่องการกู้ยืมเอกสารที่จัดทำขึ้นต้องชัดแจ้งว่า  “เป็นหนังสือสัญญากู้เงิน” ซึ่งมีข้อความแสดงเจตนาออกว่า  มีการกู้ยืมเงินระหว่างคู่สัญญา  มีรายละเอียดแห่งข้อตกลงและคู่สัญญาได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายสัญญา

 

ดังนั้น หากไม่ใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน  ไม่เข้าลักษณะตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104 และมาตรา 118  ถึงแม้หลักฐานการกู้ยืมเงินจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์  ศาลก็สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 5251/2560

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลย  มีข้อความถัดลงไปด้านล่างประกอบว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 จำเลยได้รับเงินกู้ยืมจำนวน 500,000 บาท จากโจทก์ไว้ครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้รับเงินกู้ มีลายมือชื่อพยาน 2 คน แต่ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์ผู้ให้กู้อยู่ด้วย เอกสารในลักษณะเช่นนี้ คงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่งเท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ไม่เข้าลักษณะตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104 และมาตรา 118 ถึงแม้หลักฐานการกู้ยืมเงินจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ ศาลก็สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 500,000 บาท ได้

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 1229/2560

เอกสารมีข้อความว่า “23 กุมภาพันธ์ 2549 ให้เช็คเงินสด 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน) แก่ อ. (สถานที่ให้ที่ธนาคาร น.) ผู้กู้(อ) สัญญาให้ดอกเบี้ยเดือนละ 5,000 บาท (ห้าพันบาท) ของทุกๆ เดือน…” ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเพียงการบันทึกเป็นหลักฐานว่ามีการมอบเช็คให้แก่จำเลย โดยจำเลยอยู่ในฐานผู้กู้ ดังความในตอนท้ายระบุตรงที่มีลายมือชื่อจำเลยว่า ผู้กู้  และระบุตรงที่มีลายมือชื่อโจทก์ว่า ผู้ให้กู้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็มิได้กำหนดไว้ชัดเจน แต่สามารถคำนวณได้ว่าหากต้องให้ดอกเบี้ยเดือนละ 5,000 บาท ในต้นเงิน 1,500,000 บาท ตามที่ระบุในเช็คก็จะคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี  จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 653 วรรคหนึ่ง  มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะปิดอากรแสตมป์ในเอกสารดังกล่าวแต่มิได้ขีดฆ่า ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

 

มาตรา 653  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi

 

เขียนข้อความว่า “ผู้กู้ได้รับเงินกู้ยืมจำนวน 100,000 บาท จากผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้ว โดยลงลายมือชื่อไว้และมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คน” แม้จะไม่มีลายมือชื่อผู้ให้กู้และไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ ศาลก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
Scroll to top
error: Content is protected !!