ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้คนต่างด้าว ผลจะเป็นอย่างไร
บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยนั้น ไม่สามารถถือครองที่ดินไทยได้ ภายใต้ข้อกำหนดตามกฎหมายที่ดิน ยกเว้นแต่จะนำเงินมาลงทุนเกิน40 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวง ภายใต้มาตรา 96 ทวิ ประมวลกฎหมายที่ดิน
การที่คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยพินัยกรรมนั้น จึงเป็นกรณีการได้มาซึ่งที่ดินที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่ดิน แม้พินัยกรรมจะจัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือแม้แต่มีคำพิพากษาของศาลให้คนต่างด้าวมีสิทธิได้รับที่ดิน คนต่างด้าวก็ไม่สามารถรับโอนที่ดินจากผู้จัดการมรดกได้ และจะเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 111 อีกด้วย ในทางปฏิบัติแล้ว นายทะเบียนที่ดินจึงต้องปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้คนต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นการจัดการมรดกหรือพินัยกรรมก็ตาม โดยหากมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ไปโดยผิดหลง คนต่างด้าวผู้รับโอนที่ดินจะต้องจำหน่ายที่ดินภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ภายใต้มาตรา 94 ประมวลกฎหมายที่ดิน และหากไม่มีการจำหน่าย กรมที่ดินจะเป็นผู้จำหน่ายที่ดินแปลงดังกล่าวแทน
อนึ่ง การจัดการมรดกนอกจากจะสามารถจดทะเบียนโอนได้แล้ว ยังสามารถขายทรัพย์สินได้ด้วย กรณีดังกล่าวจึงสามารถแก้ไขได้ ด้วยการให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินแปลงดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดก จากนั้นจึงส่งมอบเงินให้กับผู้รับพินัยกรรมแทนการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3028/2525
จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินให้โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวศาลพิพากษาตามยอม แม้โจทก์จะถือหรือใช้สิทธิในที่ดินที่ได้มาอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ได้ และต้องจำหน่ายที่ดินนั้นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 94 ก็ตาม โจทก์ก็ยังมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา 94 อยู่คำพิพากษาตามยอมจึงหาฝ่าฝืนหรือขัดต่อมาตรา 86 ไม่
พินัยกรรมระบุทรัพย์สินในต่างประเทศได้หรือไม่
พินัยกรรมนั้นเป็นการจัดการทรัพย์สินเผื่อตาย โดยไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะจัดการทรัพย์สินในประเทศใดได้บ้าง พินัยกรรมจึงสามารถระบุทรัพย์สินในต่างประเทศได้ และพินัยกรรมที่ทำในต่างประเทศ ก็สามารถระบุทรัพย์สินในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ในกรณีศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแล้วนั้น คำสั่งของศาลย่อมไม่ครอบคลุมถึงนิติกรรมและทรัพย์สินในต่างประเทศ โดยผู้มีส่วนได้เสียต้องนำพินัยกรรมไปดำเนินการตามกฎหมายของประเทศที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่ต่อไป เช่น นายA ทำพินัยกรรมที่ประเทศออสเตรเลีย ระบุมีการระบุถึงทรัพย์สินในออสเตรเลีย และทรัพย์สินในประเทศไทย ผู้รับพินัยกรรมดังกล่าว จะดำเนินการตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย และนำพินัยกรรมดังกล่าวมายื่นขอตั้งผู้จัดการมรดกตามกฎหมายไทยในประเทศไทยอีกทีหนึ่ง
ในทางกลับกัน หากพินัยกรรมฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นในประเทศไทย แม้ศาลไทยจะมีคำสั่งให้นายAเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแล้ว นายAจะสามารถจัดการได้เฉพาะทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ไม่สามารถนำคำสั่งของศาลไทยไปบังคับกับหน่วยงานของออสเตรเลียโดยตรงได้
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 ,ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 ,02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @cly.cmi
หรือ คลิก https://lin.ee/hCbTQl6
สาขาขอนแก่น โทร 095-9567735 แอดไลน์ @cly.kkn
หรือ คลิก https://lin.ee/U10ElNk
www.closelawyer.co.th
#ทนายใกล้ตัว