closelawyer@gmail.com       080-919-3691

ร้องขอศาลเป็นผู้จัดการมรดก แต่ไม่ได้ระบุชื่อทายาทหรือไม่ได้ระบุทรัพย์มรดกทั้งหมด ไม่ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก
 
        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 “ ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น “
 
        การที่ทายาทคนใดคนหนึ่งจะถูกกำจัดมิให้รับมรดก ในทางกฎหมายมีอยู่ด้วยกัน 2 สาเหตุ คือ
1.การถูกกำจัดมิให้รับมรดกเพราะยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก มาตรา 1605
2.การถูกจำกัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร มาตรา 1606
 
        โดยการที่ทายาทที่ปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดก จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นจะต้องเกิดขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วเท่านั้น และผลของการที่ทายาทคนนั้นได้ยักย้ายหรือปิดยังทรัพย์มรดกโดยรู้อยู่แล้วว่าจะทำให้ทายาทคนอื่นเสียประโยชน์ ทายาทคนนั้นจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกเท่ากับส่วนที่ตนยักย้ายหรือปิดบังนั้น
 
        แต่ถ้าการที่ยักย้ายหรือปิดบังนั้นมีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับแล้ว ทายาทคนนั้นจะมีสิทธิได้รับมรดกเลย
** แต่ที่สำคัญคือ การยักย้ายหรือปิดบังนั้นจะต้องกระทำต่อตัวทรัพย์มรดก ดังนั้น การที่ทายาทคนใดคนหนึ่งร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกโดยที่ไม่ได้ระบุชื่อทายาทคนอื่นให้ครบถ้วน หรือแม้กระทั่งการที่ไม่ได้ระบุทรัพย์มรดกทั้งหมดว่ามีอะไร ยังไม่ถือว่าทายาทคนนั้นปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดก ทายาทคนนั้นจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก
 
        คำพิพากษาฎีกาที่ 6323/2547 ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องและนางสาวมังคุดปกปิดทรัพย์มรดกนั้นเห็นว่า ผู้ร้องระบุในคำร้องขอว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 53238 เลขที่ดิน 3061 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี นอกจากนี้ยังมีที่ดินและเงินฝากในบัญชีธนาคารอีกหลายรายการยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องปิดบังทรัพย์มรดกอันจะถูกกำจัดมิให้ได้มรดก และที่ผู้คัดค้านฎีกาอีกว่าผู้ร้องและนางสาวมังคุดปกปิดจำนวนทายาทไม่ใส่รายชื่อทายาทซึ่งมีทั้งหมด 9 คน ลงในบัญชีเครือญาติคงใส่เพียง 2 คน เท่านั้น ก็มิใช่กรณีปิดบังทรัพย์มรดกเพื่อฉ้อฉลทายาทอื่นแต่อย่างใด เหตุดังกล่าวไม่เป็นเหตุอันจะถูกกำจัดมิให้ได้มรดก อันจะทำให้ขาดคุณสมบัติในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ฎีกาของผู้คัดค้านทุกข้อฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นให้นางสาวมังคุดและนายเทียนหยดผู้คัดค้าน ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางการะเกดผู้ตาย นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
 
        คำพิพากษาฎีกาที่ 5130/2541 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยคำร้องมิได้ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทของผู้ตาย และมิได้อ้างถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 1794พร้อมสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย เป็นการปิดบังทายาทและปิดบังทรัพย์มรดกนั้น เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะมิได้ระบุในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทของผู้ตาย ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทายาทหรือปิดบังทรัพย์มรดก ส่วนที่ผู้ร้องมิได้ระบุว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1794 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในคำร้องดังกล่าวนั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติว่า คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด และตามคำร้องดังกล่าวของผู้ร้องก็ระบุเพียงว่า ผู้ร้องไปขอเบิกเงินจากธนาคารออมสิน แต่ธนาคารแจ้งว่าจ่ายเงินให้ผู้ร้องไม่ได้ และแนะนำให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อนอันเป็นการที่ผู้ร้องอ้างเหตุที่ไม่สามารถถอนเงินที่ผู้ตายฝากไว้กับธนาคารออมสินเป็นข้ออ้างที่ผู้ร้องต้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น ผู้ร้องหาได้ระบุว่านอกจากเงินฝากในธนาคารออมสินแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีกแต่อย่างใดไม่ ทั้งเมื่อศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ผู้ร้องก็ย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายใน 1 เดือน และแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดก ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้อ้างถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 1794 พร้อมสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน
 
        คำพิพากษาฎีกาที่ 1357/2534 ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านผู้ร้อง และขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก โดยกล่าวอ้างว่าตนไม่เคยมีความประพฤติเสื่อมเสียซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคท้ายนั้น ในการตั้งผู้จัดการมรดกให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 จึงต้องมีหน้าที่แสดงให้ศาลเห็นว่าตนมีความประพฤติดี เหมาะสมเป็นผู้จัดการมรดก แม้จะไม่มีการคัดค้านในข้อนี้เป็นการเฉพาะเจาะจง การที่ทายาทโดยธรรมเบิกความในคดีที่ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกว่า เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเพียงเท่าที่เบิกความถึงแต่ความจริงเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกมากกว่านั้น ยังไม่พอฟังว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก.
 
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
ร้องขอศาลเป็นผู้จัดการมรดก แต่ไม่ได้ระบุชื่อทายาทหรือไม่ได้ระบุทรัพย์มรดกทั้งหมด
Scroll to top
error: Content is protected !!