สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งร้างฝ่ายหนึ่งเกินกว่า 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
เรื่องของความรักความรู้สึก เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร และไม่มีใครบังคับจิตใจกันได้ เมื่อแรกคบพบเจอก็รักกันหวานชื่น ควงคู่จู๋จี๋ไปจดทะเบียนสมรส สัญญากันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะมีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง แต่พอวันเวลาผ่านไป ต่างคนต่างค้นพบตัวเอง เข้าใจความรู้ตัวเอง หรือ เพราะเหตุไม่อาจทนอยู่ด้วยกันต่อไปได้ บ้างก็หมดความรักที่มีต่อกันแล้ว บ้างก็เห็นใหม่ดีกว่าเก่า แอบไปมีกิ๊กมีชู้ บ้างก็เจอคนดูแลเอาใจใส่ สายเปย์ดีกว่า เหตุผลเหล่านี้มีไม่น้อยที่ทำให้คู่รักหลายคู่ต้องเลิกรากันไป อยู่ๆวันดีคืนดี จากคู่รักก็กลายเป็นคู่ร้าย หาเหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาพูดมาชวนทะเลาะเพื่อจะขอเลิกรา ทั้งที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้รู้เรื่องราวอะไรเลย (เพราะเมื่อคืนยังนอดกอดกัน นอน….กันอยู่เลย !!) ทำเอาอีกฝ่าย งง สิครับ เมื่ออีกฝ่ายขอเลิกรา อีกฝ่ายไม่ยอม ก็หนี้ไม่พ้นคำว่า “ไม่เลิกก็ไม่เป็นไร ฉันไปเอง” และแล้วเธอหรือเขาก็เก็บกระเป๋าเสื้อผ้าหนีหายไป ติดต่อไม่ได้ เฟสบุ๊กก็หาย ไลน์ก็บล็อก โทรก็ไม่ติด ทำไงละครับ !! สุดท้ายอีกคนที่ถูกทอดทิ้งก็ต้องทนทุกข์ทรมานใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่แรมปี และเช่นเดิมครับ เวลาเท่านั้น ที่จะช่วยรักษาแผลใจที่ยังคงมีความเจ็บปวดอยู่ ให้เบาบางได้ เมื่ออีกฝ่ายทำใจได้ ก็หนีไม่พ้นที่ต้องพบรักใหม่ อยากใช้ชีวิตคู่กับแฟนใหม่ แต่จะทำยัง ในเมื่อยังติดทะเบียนสมรสอยู่ แฟนเก่าเขาทิ้งไปก็ติดต่อให้มาหย่าไม่ได้ หลายคนผมเชื่อว่าต้องพบเจอกับปัญหาเหล่านี้ ไม่ต้องตกใจครับ วันนี้ทนายใกล้ตัวมีทางออกมาให้ครับ
ตามกฎหมายนั้น สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งร้างฝ่ายหนึ่งเกินกว่า 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4) มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้ครับ
คำพิพากษาฎีกาที่ 5747/2531
“จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ทำให้จำเลยถูกบัตรสนเท่ห์ จึงทำร้ายโจทก์จนกระดูกซี่โครงร้าว แล้วออกจากบ้านไปอยู่กับภริยาเก่าโดยไม่กลับมาอยู่กับโจทก์อีกเลยแม้ปรากฏว่าจำเลยเคยช่วยออกค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าโทรศัพท์ในบ้านโจทก์โดยฝากบุตรไปให้ แต่เมื่อพบกันก็ไม่พูดกัน ดังนี้ ถือว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ เมื่อเป็นระยะเวลาเกินหนึ่งปี ก็เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4)”
คำพิพากษาฎีกาที่ 1644/2537
“จำเลยละทิ้งร้ายโจทก์ไปเกิน 1 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4) แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตลอดมาและได้เลิกยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นแล้วก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องหย่าจำเลยสิ้นไปแต่อย่างใด”
เมื่อศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันแล้ว ท่านสามารถนำคำพิพากษาและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดไปที่อำเภอหรือสำนักงานเขตใกล้บ้าน เพื่อขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในฐานข้อมูลทะเบียนครอบครัวได้เลย โดยไม่ต้องให้อีกฝ่ายไปด้วยนะครับ
คำพิพากษาฎีกาที่ 2141/2531
“จำเลยชอบเล่นการพนันมานาน โจทก์ห้ามปรามก็ไม่เชื่อบางครั้งนำทรัพย์สินภายในบ้านไปจำนำเอาเงินไปเล่นการพนันจำเลยเคยถูกจับฐานเล่นการพนันถูกดำเนินคดีจนศาลพิพากษาลงโทษ ก็ยังไม่เลิก โจทก์เป็นตำรวจต้องถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปตักเตือนว่าหากไม่ห้ามให้จำเลยเลิกเล่น จะย้ายโจทก์ โจทก์ต้องเลี้ยงดูทั้งครอบครัว เมื่อจำเลยเล่นการพนันเสียบางครั้งเงินก็ไม่พอใช้จ่ายพฤติการณ์ของจำเลยถือว่าเป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง และได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2)(ก)และ(ค)
การจดทะเบียนการหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีก ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้นศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่า หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย”
อย่างไรก็ตาม การฟ้องหย่าด้วยเหตุตามมาตรานี้ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องเป็นเรื่องๆไป มิใช่อะไรก็เอ่ะอะก็จะฟ้องๆ ไม่ได้นะครับ มีบางกรณีที่ทิ้งร้างกันไปเกิน 1 ปี ฟ้องหย่าไม่ได้ก็มี เพราะเหตุผลอะไรหรอ ?? เหอะๆ ตอนนี้ยังไม่บอก ไว้ติดตามตอนต่อไปนะครับ
BY- ทนายนิค
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
www.closelawyer.co.th
#ทนายใกล้ตัว
สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งร้างฝ่ายหนึ่งเกินกว่า 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้