หลายๆ ท่านได้ว่าจ้างให้ก่อสร้างตึกรามบ้านเรือนหรือต่อเติมเพิ่มจากตัวบ้าน หากได้ทำสัญญาต่อกันไว้แต่ในสัญญามิได้กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จหรือแม้แต่มิได้ทำสัญญาไว้ต่อกันก็ถือเป็นการจ้างทำของ สามารถฟ้องร้องบังคับคดีต่อกันได้ ตามกฎหมายหากเวลาก่อสร้างมิได้กำหนดไว้ ผู้รับจ้างต้องทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามปกติ ของประเพณีการค้างนั้น ๆ มิได้ก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามอำเภอใจของผู้ว่าจ้างแต่อย่างใด หากเป็นเช่นนั้นความยุติธรรมก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคม กฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำต้องบัญญัติมาตรา 368 ขึ้นมาคุ้มครองในกรณีดังกล่าว
อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2553 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ด. ผู้บริโภคกับจำเลย เป็นปัญหาพิพาทเกี่ยวกับโครงการบ้านจัดสรรของจำเลยซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองบริโภคโจทก์เคยประชุมและมีมติไว้แล้วว่า การกระทำของจำเลยที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้บริโภคจำนวน 9 รายในโครงการดังกล่าวของจำเลย เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคเหล่านั้น เมื่อ ด. ยื่นเรื่องราวต่อโจทก์อันเป็นปัญหาพิพาทในโครงการเดียวกันของจำเลย เป็นเรื่องในลักษณะเดียวกับที่โจทก์เคยมีมติไว้แล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องนำเรื่องราวของ ด. เข้าประชุมอีก เนื่องจากโจทก์ได้มีมติไว้แล้วว่าในการดำเนินคดีแก่จำเลยนั้นให้รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่จะมาร้องเรียนเพิ่มเติมในลักษณะเดียวกันในภายหลังด้วย การฟ้องร้องของโจทก์ในคดีนี้จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (1) (7) และมาตรา 39
สัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาการก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยต้องรีบลงมือก่อสร้างและก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควรอันเป็นไปตามหลักสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 มิใช่ขึ้นอยู่กับความพอใจจำเลยว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใดก็ได้ แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องรีบลงมือก่อสร้างโดยพลันตามมาตรา 203 เมื่อ ด. ผู้บริโภคได้ชำระเงินแก่จำเลยเป็นจำนวนถึง 130,000 บาท แต่จำเลยยังมิได้เริ่มลงมือก่อสร้างบ้าน ด. จึงมีสิทธิที่จะไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยได้เนื่องจากเป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 ดังนั้น การที่ ด. ไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยตั้งแต่งวดที่ 6 เป็นต้นไป ด. จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา
การดำเนินคดีในศาลของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2422 มาตรา 39 วรรคสอง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นค่าส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้อง และค่าส่งคำบังคับ ซึ่งเป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่ชำระมาให้แก่โจทก์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปรกติประเพณีด้วย
ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi