เป็นเจ้าของบัญชีม้า ต้องร่วมใช้เงินคืนผู้เสียหายด้วยหรือไม่?
โดยหลักแล้ว ความผิดฐานยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชี ตาม พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ เป็นความผิดต่อรัฐ ในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีในฐานนี้ฐานเดียว ต้องถือว่ากระทำผิดต่อรัฐเท่านั้น และเมื่อเจ้าของบัญชีไม่ได้กระทำความผิดต่อผู้เสียหายเอกชน แม้บัญชีจะถูกนำไปหลอกลวงผู้อื่น เจ้าของบัญชีก็ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องชดใช้เงินคืน
อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีร่วมกันกระทำความผิดแล้ว หากศาลวินิจฉัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดร่วม เจ้าของบัญชีม้าก็ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดร่วมด้วย และจะมีหน้าที่ต้องชดใช้เงินคืนผู้เสียหายด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในการพิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำความผิดร่วม ฝ่ายโจทก์เองต้องมีหน้าที่การพิสูจน์ต่อศาล มากกว่าการพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชี โดยหากศึกษาจากคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๙๑๓/๒๕๖๓ นั้น พบว่า ในการวินิจฉัยว่าเจ้าของบัญชีม้าเป็นตัวการร่วมนั้น อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อเท็จจริงดังนี้
- เจ้าของบัญชีต้องมีส่วนร่วมในการพูดคุยกับผู้เสียหายเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิด
- เจ้าของบัญชีต้องมีส่วนร่วมในการเบิกถอนเงินจากคนร้าย
- เจ้าของบัญชีได้รับส่วนแบ่งจากเงินที่ได้จากการกระทำความผิด
- เจ้าของบัญชีทราบว่าบัญชีของตนจะถูกนำไปใช้หลอกลวงผู้อื่น หรือใช้กระทำความผิด
ถ้ามีการพิสูจน์ได้ในประเด็นหนึ่งประเด็นในเหล่านี้ ก็มีโอกาสที่ศาลจะวินิจฉัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดได้ โดยนอกจากเจ้าของบัญชีม้าจะต้องรับโทษเป็นการส่วนตัวในข้อหาให้ผู้อื่นใช้บัญชีแล้ว ยังต้องรับผิดร่วมด้วยในฐานความผิดที่ถูกใช้บัญชีกระทำความผิด และยังต้องมีหน้าที่ร่วมกับคนร้ายในการคืนทรัพย์ให้ผู้เสียหายด้วย
อ้างอิง ;
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๙๑๓/๒๕๖๓
จำเลยมีนาย ป .มาเบิกความว่าได้เล่าให้จำเลยฟังว่ามีบุคคลติดต่อมาทางเฟสบุ๊กให้หาบุคคลที่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้แล้วจะให้ค่าตอบแทน ขณะนั้นจำเลยอายุ 19 ปีเศษ ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง จึงแจ้งนาย ป.ว่าจะเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารและบัตรเอทีเอ็มมอบให้นาย ป.แลกกับค่าตอบแทน เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยมีส่วนร่วมกับคนร้ายในการพูดคุยหลอกผู้เสียหาย หรือมีส่วนร่วมกับคนร้ายในการเบิกถอนเงินของผู้เสียหายจากบัญชีเงินฝากของจำเลย หรือจำเลยได้รับส่วนแบ่งจากคนร้ายที่ฉ้อโกงผู้เสียหาย หรือจำเลยทราบว่าคนร้ายจะนำบัญชีเงินฝากของจำเลยไปใช้รับโอนเงินเพื่อการฉ้อโกงผู้เสียหาย ทั้งนาย ป.ก็มิได้ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด ลำพังการที่จำเลยรับจ้างเปิดบัญชีโดยที่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลย จึงไม่อาจฟังได้ว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าจะมีการนำบัญชีดังกล่าวไปดำเนินการเกี่ยวกับการกระทำความผิดกฎหมายหลอกลวงผู้เสียหายหรือผู้อื่นให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากนั้น อันจะถือว่าจำเลยมีเจตนาไม่บริสุทธิ์มาตั้งแต่ต้น และทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าหลังจากที่จำเลยมอบสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มให้นาย ป.แล้ว จำเลยเกี่ยวข้องหรือทำธุรกรรมเบิกถอนเงินในบัญชีนั้นอีก น่าเชื่อว่าจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนในการหลอกลวงเพื่อให้ได้รับทรัพย์จากผู้เสียหาย มา พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนคนร้ายกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @cly.cmi
หรือ คลิก https://lin.ee/hCbTQl6
สาขาขอนแก่น โทร 095-9567735 แอดไลน์ @cly.kkn
หรือ คลิก https://lin.ee/U10ElNk
www.closelawyer.co.th
#ทนายใกล้ตัว