ความเกี่ยวพันระหว่างผู้ลงทุนในบริษัทย่อมต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 มาตรา 1015 ซึ่งกำหนดว่า บริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวแล้ว จัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นบริษัทนั้น โดยบทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทบังคับโดยเด็ดขาด ไม่ได้มีลักษณะเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตามกฎหมาย ที่จะสามารถนำสืบเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จากบทบัญญัติดังกล่าวบริษัทจึงมีสิทธิหน้าที่แยกต่างหากจากบรรดาผู้ถือหุ้น สามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของตนเอง ทรัพย์สินของบริษัทจึงแยกต่างหากจากทรัพย์สินของบรรดาผู้ถือหุ้น หากบริษัทก่อหนี้สินก็ต้องถูกบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของบริษัท
บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1169 เป็นกรณีที่ผู้ถือหุ้น ใช้สิทธิฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัท เฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการของบริษัทเท่านั้น แต่การที่โจทก์(เจ้าของที่แท้จริง) ฟ้องกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท โดยมีคำขอให้พิพากษาว่าหนังสือยืนยันการชําระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตกเป็นโมฆะ กับให้เพิกถอนสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้น ไม่ใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทในส่วนนี้
การเพิกถอนนิติกรรมที่ได้กระทำโดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทที่ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ใช่กระทำในฐานะส่วนตัว บริษัทย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสีย แต่โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท คงมีสิทธิเพียงควบคุมการดำเนินงานของบริษัทบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น จึงไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัท โดยกล่าวอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย(เจ้าของที่แท้จริง) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท
คำพิพากษาฎีกาที่ 4605/2561
โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนโจทก์ หากเป็นจริงดังที่กล่าวอ้าง โจทก์ก็มีสถานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้ที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลของบริษัท จะมีสิทธิแต่เพียงควบคุมการดำเนินงานของกรรมการบริษัทบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเองได้ไม่ หรือหากกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ซึ่งบริษัทมีสิทธิจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแล้วบริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิของบริษัทเพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นหาอาจจะเข้ามาดำเนินการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาที่กรรมการบริษัทกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้นิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายทรัพย์สินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ และให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแทน
มาตรา 1169 ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ๆ จะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้
ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi