closelawyer@gmail.com       080-919-3691

กรณีสมมติท่านเป็นผู้เข้าประมูลงานจากรัฐหรือเอกชนก็ตาม หากมีระเบียบกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้าประมูลงานเอาไว้ แต่ท่านมีคุณสมบัติไม่ครบตามระเบียบ จึงมีการปลอมแปลงเอกสารหรือกระทำการอื่นเพื่อหลอกเพื่อที่จะให้ได้เข้าประมูลงาน จนทางหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนหลงเชื่อว่าท่านมีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบและตกลงเข้าทำสัญญาด้วย กรณีดังกล่าวท่านเองในฐานะผู้รับจ้างมีความผิดข้อหาฉ้อโกงประการหนึ่ง และข้อหาอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่าง

ตามระเบียบของโรงพยาบาลผู้ว่าจ้างกำหนดว่า ผู้รับจ้างทำความสะอาดของโรงพยาบาลจะต้องมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร หากผู้รับจ้างไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดง ก็ไม่อาจทำสัญญาจ้างกับผู้รับจ้างได้ การที่ผู้รับจ้างไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร แต่หลอกลวงผู้ว่าจ้างโดยการนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดงข้อความอันเป็นเท็จกับผู้ว่าจ้างเพื่อให้ได้งานนั้น ดังนี้ การหลอกลวงของผู้รับจ้างเป็นการกระทำโดยทุจริต และการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างอันเป็นเอกสารสิทธิให้ผู้รับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้รับจ้างในการที่จะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล และได้ทรัพย์สินเป็นเงินค่าจ้างจากการทำงาน จึงถือได้ว่าผู้รับจ้างกระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้ว่าจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

คำพิพากษาฎีกาที่ 6404/2560

ตามระเบียบการทำสัญญาจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. ผู้รับจ้างจะต้องมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมายื่นให้ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นการค้ำประกันในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ หรือต้องชำระค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง หากผู้รับจ้างคนใดไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดง ก็ไม่อาจทำสัญญาจ้างผู้รับจ้างคนดังกล่าวได้ การที่จำเลยทั้งสองประสงค์จะให้ร้านของจำเลยทั้งสองได้รับงานจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ข. จึงหลอกลวงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่ว่า  ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง  ในกรณีที่ร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหนี้ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างมาแสดงต่อความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง การหลอกลวงดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับร้านของจำเลยทั้งสอง เพราะหากร้านของจำเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารผู้เสียหายไม่ยอมทำสัญญาจ้างทำของจำเลยทั้งสอง  การหลอกลวงดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยทุจริต และการหลอกลวงโดยทุจริตดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยทั้งสองในการที่จะเข้าไปทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. อันเป็นการหลอกลวงโดยทุจริตให้ผู้เสียหายเข้าสัญญาจ้างอันเป็นเอกสารสิทธิ เมื่อการหลอกลวงโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดกับโรงพยาบาล ช. โรงพยาบาล ช. จึงให้สิทธิจำเลยทั้งสองเข้ารับงานอันเป็นผลให้จำเลยทั้งสองมีโอกาสเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นเงินค่าจ้างจากการทำงาน 108,000 บาท จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงแล้ว  แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าภายหลังทำสัญญาจำเลยทั้งสองเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จริง โรงพยาบาล ช. จึงตรวจรับงานและอนุมัติค่าจ้างงวดแรกให้แก่ร้านของำจเลยทั้งสอง 108,000 บาท แต่การเข้าทำงานดังกล่าวก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายหลงเชื่อทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพบาบาล ช. ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จริงงก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำความผิดอาญาของจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายไม่เป็นความผิด  การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้องแล้ว

 

จำเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายว่า ธนาคาร ก. ได้ออกหนังสือค้ำประกันให้ร้านของจำเลยทั้งสอง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่ร้านของจำเลยทั้งสอง  โดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองให้ทำความสะอาดอาคารโรงพยาบาล ช. หากจำเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันจากะนาคาร ผู้เสียหายจะไม่เข้าทำสัญญาจ้างกับจำเลยทั้งสอง  กรณีจึงถือได้ว่านิติกรรมสัญญาจ้างระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองเกิดจากกลฉ้อฉลถึงขนาด สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง  เมื่อผู้เสียาหายบอกเลิกสัญญาอันเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทำให้สัญญาจ้างตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แม้การที่จะให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างทำความสะอาดแก่ผู้เสียหายไม่เป็นการพ้นวิสัย แต่การงานที่จำเลยทั้งสองทำให้ผู้เสียหายไปแล้วซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายยอมรับเอาการงานของจำเลยทั้งสองแล้ว ตามหนังสือขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน ผู้เสียหายก็ต้องกลับคืนไปยังฐานะเดิมด้วยเช่นกัน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อการที่จะให้การงานที่ทำไปแล้วกลับคืนยังฐานะเดิมเป็นการพ้นวิสัย ผู้เสียหายจึงต้องใช้ค่าเสียหายที่สมควรแก่หน้าที่การงานให้แก่จำเลยทั้งสอง โดยถือว่าค่าจ้างตามฟ้องที่จำเลยทั้งสองได้รับไปแล้วเป็นค่าเสียหายจำนวนนั้น  ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยทั้งสองอีก

ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi

ผู้รับจ้างหลอกผู้ว่าจ้างว่ามีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร จนผู้ว่าจ้างหลงเชื่อตกลงเข้าทำสัญญาและจ่ายเงินค่าจ้าง ดังนี้ ผู้รับจ้างมีความผิดข้อหาฉ้อโกง
Scroll to top
error: Content is protected !!