การสละมรดก หมายถึง การสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้มรดกที่สละนั้นตกได้แก่บุคคลอื่นใด(การสละมรดกนั้นจะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้) เพราะมิเช่นนั้นแล้วบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1615 วรรคสอง จะไม่มีผลบังคับ เช่น หนังสือที่ผู้มีสิทธิ์รับมรดกทำขึ้นโดยมีเจตนาจะไม่รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยจะยกให้ ด. ผู้เดียว จึงไม่ใช่เป็นการสละมรดก
การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 10810/2559
ส. สละมรดกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เมื่อ ส. สละมรดกในขณะที่เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาโดย ส. ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับคดีได้ จึงเป็นการสละมรดกโดยรู้อยู่ว่าจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนนิติกรรมสละมรดกที่ดินในส่วนของ ส.
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 2 อันหมายถึง ขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของ ส. โดยอ้างว่า ส. สละมรดกที่ดินโดยรู้อยู่ว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ การกระทำของ ส. จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737
มาตรา 1614 ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่สละมรดกนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการสละมรดกโดยเสน่หา เพียงแต่ทายาทผู้สละมรดกเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว ที่จะขอเพิกถอนได้
ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi