closelawyer@gmail.com       080-919-3691

น้องถูกฆ่าจนถึงแก่ความตาย พี่ชายจะเป็นโจทก์เพื่อดำเนินคดีแทนได้หรือไม่ ?
เมื่อมีการกระทำความผิดในทางอาญาเกิดขึ้น บุคคลที่จะใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษมีอยู่ 2 ประเภท ตามมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ
 
1 ผู้เสียหาย
2 พนักงานอัยการ
ซึ่งในเรื่องของผู้เสียหายนอกจากหมายถึง “ผู้เสียหาย” ที่ได้รับความเสียหายอย่างแท้จริงอันเกิดจากการกระทำผิดอาญา ยังหมายความรวมถึง “ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย”ด้วย บุคคลใดบ้างที่จะมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ต้องพิจารณาตามมาตรา 5 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
(๑) ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือ ผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อ ผู้เยาว์ หรือ ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
เมื่อมีการกระทำความผิดต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถเกิดขึ้น ผู้แทนโดยชอบธรรมชอบที่จะใช้สิทธิในทางกฎหมายดำเนินคดีอาญาแทนผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถได้
 

(๒) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี หรือ ภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้าย ถึงตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
หากมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นจนผู้เสียหาย1 ตาย หรือ บาดเจ็บจนไม่อยู่ภาวะที่จะดำเนินคดีอาญาได้ กฎหมายยังให้พ่อแม่ ลูก หรือสามีภริยา ของบุคลคลนั้นๆเป็นผู้มีอำนาจที่จะเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อผู้ที่มาทำให้ผู้เสียหายตายหรือบาดเจ็บได้
 
(๓) ผู้จัดการ หรือ ผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคลเฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น”
ดังนี้ หากมีบุคคลใดมาทำให้น้องหรือคนในครอบครัวบาดเจ็บหรือจนถึงแก่ชีวิต พี่ หรือ ญาติๆ คนอื่นไม่มีสิทธิที่จะเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนเพื่อดำเนินคดีอาญาเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ คงจะมีแต่เพียงผู้แทนโดยชอบธรรม พ่อหรือแม่ หรือสามีภริยาเท่านั้นที่จะเป็นโจทก์ฟ้องเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
 
คำพิพากษาฎีกาที่ 579/2488
สิทธิฟ้องคดีอาญามีบทบัญญัติไว้แล้วใน ป.วิธีพิจารณาความอาญา จะยก ป.วิธีพิจารณาความแพ่งอนุโลมมาใช้ไม่ได้คดีที่บุคคลถูกทำร้ายตายจะฟ้องได้แต่เฉพาะบุคคลตามวิธีพิจารณาความอาญา ม.5(2) เท่านั้น พี่ชายของผู้ตายไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องผู้ฆ่าน้องชาย แม้จะไม่มีบิดามารดาและอยู่ในความปกครองของพี่ชายก็ตาม
น้องชายโจทก์ถูกฆ่าตาย ผู้ตายอยู่ในความปกครองของโจทก์ยังไม่มีภริยา และบิดามารดวายชนม์แล้ว โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างให้ยกฟ้องโจทก์โดยอ้างว่า พี่จะสงเคราะห์เป็นบุพพการีตาม ป.วิธีพิจารณาความอาญา ๕ (๒) ไม่ได้ การแปลกฎหมายจะแปลโดยสงเคราะห์ไม่ได้
 
คำพิพากษาฎีกาที่ 4185/2529
จำเลยที่ 2 ขับรถเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางขวาโดยมิได้ระมัดระวังดูรถที่แล่นตามมาทางด้านขวาให้ปลอดภัยเสียก่อน เมื่อเปลี่ยนช่องเดินรถออกไปในระยะกระชั้นชิดกับช่วงที่จำเลยที่ 1 จะขับรถแซง แม้จำเลยที่ 2 จะให้สัญญาณไฟเลี้ยวหรือไม่ก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาท และการที่จำเลยที่ 1 ขับตามหลังรถจำเลยที่ 2 ก็ย่อมจะต้องระมัดระวังดูรถคันข้างหน้า หากจะขับแซงก็ต้องดูให้ดีเสียก่อนว่าสามารถแซงขึ้นไปได้โดยปลอดภัย แต่จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วและจะแซงรถจำเลยที่ 2ไป ในคราวเดียวกันที่แซงรถบรรทุกอีกคันหนึ่ง รถจำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนกับรถจำเลยที่ 2 และเสียหลักแล่นชนเสาปูนกันเลี้ยวที่ทางเชื่อมหัก แล้วแล่นผ่านทางเชื่อมพุ่งเข้าชนรถยนต์เก๋งในถนนด้านที่รถแล่นสวนพังยับเยิน เป็นเหตุให้รถยนต์เก๋งกระแทกถูกรถยนต์กระบะที่แล่นตามมาตกคูข้างถนน รถจำเลยที่ 1ถึงกับหันหัวรถกลับและพลิกตะแคงทับรถยนต์เก๋ง ดังนี้ เหตุรถชนจึงเกิดจากความประมาทของจำเลยทั้งสองทำให้มีคนตายและบาดเจ็บ จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. ม.291,300พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ม.43,157 เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม ม.291ซึ่งเป็นบทหนัก
ผู้ร้องเป็นพี่ของผู้ตาย ไม่ใช่บุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตามที่ป.วิ.อ. ม.5(2) บัญญัติ ไว้ ไม่มีอำนาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5
“ บุคคล เหล่านี้ จัดการแทน ผู้เสียหาย ได้
 
(๑) ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือ ผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อ ผู้เยาว์ หรือ ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(๒) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี หรือ ภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้าย ถึงตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
(๓) ผู้จัดการ หรือ ผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคลเฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น”
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
น้องถูกฆ่าจนถึงแก่ความตาย พี่ชายจะเป็นโจทก์เพื่อดำเนินคดีแทนได้หรือไม่ ?
Scroll to top
error: Content is protected !!