closelawyer@gmail.com       080-919-3691

กรณีศึกษาจากเรื่องจริง ฟ้องหย่าชาวต่างชาติอย่างไร ให้ได้หย่า!!!
          ห่างหายกันไปนานนะครับ กับบทความตัวอย่าง แนวทางการดำเนินคดี ถึงแม้จะหายไปนานแต่เมื่อกลับมา ทางเพจมีตัวอย่างคำพิพากษาในคดีฟ้องหย่าชาวต่างชาติที่น่าสนใจ มาให้แฟนเพจทนายใกล้ตัวได้อ่านกัน
 
           คดีนี้ โจทก์เป็นหญิงสาวชาวไทยได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยชายหนุ่มชาวอินเดีย ซึ่งภายหลังจากจดทะเบียนสมรสทั้งโจทก์และจำเลยต่างไม่ได้อยู่กินอาศัยด้วยกันฉันท์สามีภริยา  ไม่ได้มีบุตรด้วยกัน เพียงแต่พบเจอกันนานๆครั้ง จนกระทั่งตัวจำเลยหายหน้าหายตาไปไม่ได้มีการติดต่อโจทก์ และต่างฝ่ายต่างไม่ได้รับการติดต่อซี่งกันและกัน โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยยังคงอาศัยอยู่ในประเทศไทยอยู่อีกหรือไม่หรือแม้จำเลยจะมีชีวิตอยู่หรือไม่โจทก์ก็มิอาจทราบได้  
 
          จนเวลาล่วงเลยกว่า 19 ปี   โจทก์ได้มีครอบครัวใหม่ที่แสนอบอุ่น และหวังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพียงแต่การที่โจทก์จะดำเนินการหรือกระทำนิติกรรมใดๆในบางครั้งต้องได้รับความยินยอมจากสามี ซึ่งในขณะนั้นโจทก์ก็ไม่ทราบว่าจำเลยอยู่ที่ใด ส่งผลให้การดำรงชีวิตของดจทก์เติมไปด้วยความยุ่งยาก  ต่อมาโจทก์จึงได้เดินทางมาหาทีมทนายใกล้ตัวเพื่อขอให้ดำเนินการฟ้องหย่ากับจำเลย เพื่อที่โจทก์จะได้เริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง
.
            เมื่อทีมทนายได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายความจึงได้วางแนวทางในการดำเนินคดี  เมื่อพิจารณาการที่จะฟ้องหย่าจำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าว  นอกจากจะต้องพิจารณาเหตุฟ้องหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในบรรพ 5 ว่าด้วยเรื่องครอบครัวแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27  ที่มีหลักว่า 
          “ ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้
           เหตุหย่า ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า “  ดังนั้น ในการฟ้องหย่าบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าว ต้องคำนึงถึงเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายไทยแล้ว ต้องพิจารณาถึงเหตุฟ้องหย่าของกฎหมายในประเทศที่บุคคลนั้นๆมีสัญชาติด้วย  ศาลถึงจะพิพากษาให้หย่าได้
 
             ซึงกรณีของโจทก์ ก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546  (4) สามีหรือภริยา จงใจละทิ้งร้าง อีกฝ่ายหนึ่งไป เกิน หนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้น ฟ้องหย่าได้   
 
              อย่างไรก็ตามทีมทนายก็ต้องทำการศึกษาถึงกฎหมายของประเทศอินเดียซึ่งเป็นสัญชาติของจำเลย ว่ากฎหมายของประเทศเขามีเหตุฟ้องหย่าหรือไม่ และเหตุดังกล่าวตรงกับกฎหมายไทยตามมาตรา1546(4) หรือไม่ หรือหากไม่มีพอที่จะเทียบเคียงกันได้หรือไม่ หรือกฎหมายของเขาขัดกันกับกฎหมายของประเทศไทยเราหรือไม่ ซึ่งหากได้ความว่าขัดกัน ศาลก็จะไม่อนุญาตให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน
 
            เมื่อทีมทนายได้ศึกษากฎหมายของประเทศอินเดียก็พบว่า ตามพระราชบัญญัติการแต่งงานของชาวฮินดู พ.ศ.2489 แห่งประเทศอินเดีย ว่าด้วยการหย่าร้าง ซึ่งในมาตรา 13 ได้กำหนดเหตุฟ้องหย่าไว้ คือ (1)(ib) “ได้ละทิ้งผู้ยื่นคำร้องเป็นระยะเวลาต่อเนื่องไม่น้อยกว่าสองปีทันทีเมื่อยื่นคำร้อง สามารถยื่นคำร้องหรือฟ้องหย่าต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งให้หย่าได้”  เป็นกฎหมายที่พอจะเทียบเคียงได้กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546  (4) ของประเทศไทยเรา  ซึ่งในทางนำสืบโจทก์จะต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่ากฎหมายทั้งสองประเทศไม่ขัดกัน และสามารถที่จะฟ้องหย่าได้ ศาลจึงจะอนุญาตให้หย่า
 
              โดยในการดำเนินการฟ้องหย่า จะต้องทำคำฟ้องเป็นภาษาไทยฉบับหนึ่ง และกฎหมายของประเทศอินเดียที่อ้างถึงพร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย    คดีนี้เมื่อมีการฟ้องไปถึงศาล ศาลก็ให้สืบพยานโจทก์ไปเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากไม่สามารถที่จส่งหมายให้แก่จำเลยได้เพราะไม่อาจทราบได้ว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่ใดไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร  เมื่อสืบพยานจนเสร็จศาลก็ได้มีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาต่อกัน  คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณา โจทก์ก็มีความสุขที่จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่..
 
เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว รอครบ 1 เดือนจึงขอศาลออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด แล้วให้นำคำพิพากษา และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ไปแจ้งหย่าที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอที่ไหนก็ได้ เพื่อให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าได้เลยครับ แล้วท่านก็จะได้ใบสำคัญการหย่า และทะเบียนหย่า ตามคำสั่งศาล ตามตัวอย่างเลยครับ 
สำหรับเรื่องนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วางแนววินิจฉัยไว้ เช่น
คำพิพากษาฎีกา 6625/2549  
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายของประเทศตามสัญชาติคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีบทบัญญัติกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหย่าหรือเหตุหย่าไว้ ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้ มิใช่ต้องเป็นการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน ตามกฎหมายของรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเงื่อนไขการหย่าไว้และบทบัญญัติของกฎหมายของประเทศไทยก็ระบุเงื่อนไขการฟ้องหย่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้
 
สำหรับเหตุหย่า ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้อง ดังนั้น ในการวินิจฉัยเรื่องเหตุหย่าตามฟ้องจึงต้องใช้กฎหมายของประเทยไทยบังคับ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2531 หลังสมรสได้ประมาณ 6 เดือน เกิดการขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมไม่เข้าใจกัน จำเลยไม่สนใจที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากันได้ เกียจคร้าน ชอบแต่ความสบายไม่ยอมทำงานบ้าน ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใดและไม่ชอบออกงานสังคมยกเว้นงานที่จำเป็น แต่ชอบงานเลี้ยงไม่เป็นทางการที่มีความสนุกสนาน ทำให้เกิดการทะเลาะกันเป็นประจำ ด่าว่าโจทก์ซึ่งโจทก์เองก็ด่าจำเลยกลับไปด้วย แต่ไม่เคยทะเลาะกันเสียงดัง เพียงแต่ไม่พูดกันขณะโมโห แม้ในช่วงแรกจำเลยไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ แต่ต่อมาภายหลังโจทก์จำเลยต่างไม่สมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก โจทก์จำเลยคงมีฐานะเป็นสามีภริยาอยู่กินกันมานานถึง 13 ปีเศษ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินสมควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) โจทก์จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้
หากใครเห็นว่าบทความนี้ หรือ ตัวอย่างการต่อสู้คดีของสำนักงาน เป็นประโยชน์ สามารถนำไปปรับใช้ได้ และอย่าลืมกดไลค์กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจในการเขียนบทความดีๆ ทางกฎหมายต่อไปด้วยนะครับ
 
       สำหรับครั้งหน้าจะเป็นบทความความรู้ทางกฎหมายเรื่องอะไร แฟนเพจทนายใกล้ตัว โปรดติดตามตอนต่อไปด้วยนะครับ
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
www.closelawyer.co.th
#ทนายใกล้ตัว
กรณีศึกษาจากเรื่องจริง ฟ้องหย่าชาวต่างชาติอย่างไร ให้ได้หย่า
Scroll to top
error: Content is protected !!