สัญญาประนีประนอมยอมความระบุไว้อย่างไร ต้องบังคับตามที่ได้ตกลงไว้อย่างเคร่งครัดแม้จะมีทางอื่นตามกฎหมายก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้
หากได้มีการฟ้องร้องเป็นข้อพิพาทต่อกันบนศาลแล้ว ภายหลังได้มีการไกล่เกลี่ยประนีประนอมหาข้อตกลงร่วมกันจนเป็นผลสำเร็จจึงได้มีคำพิพากษาตามสัญญายอมดังกล่าว ต่อมาเมื่อมีคำพิพากษาตามยอมแล้วไม่สามารถใช้สิทธิอื่นที่มีตามกฎหมายมาบังคับเพิ่มเติมได้ จำต้องบังคับตามที่ได้ทำสัญญายอมต่อกัน
ตัวอย่าง นาย ก กับ นาย ข ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้วนั้นมีข้อความว่า หากนำทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิบังคับเอาทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาด แต่ปรากฏว่านาย ก เจ้าหนี้แจ้งว่าทรัพย์จำนองนำออกขายทอดตลาดยากจึงจะบังคับเอากับเงินเดือนของนาย ข ย่อมไม่สามารถทำได้เป็นเรื่องที่นาย ก สามารถทำได้แต่หากเป็นการบังคับคดีตามปกติการอายัดเงินเดือนจึงเป็นเรื่องนอกคำพิพากษา นาย ก จำต้องขายทรัพย์ที่จำนองให้ได้ก่อนจึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2541 เมื่อโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว หากคู่ความฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็จะต้องมีการบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาดังกล่าว ปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วแต่ยังขายไม่ได้ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมจำเลยจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของโจทก์ได้ ก็ต่อเมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้การที่ยังขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่ได้มิใช่กรณีขายแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยจึงยังไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของโจทก์ การที่จำเลยหักบัญชีเงินฝากของ โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นการปฏิบัติ นอกเหนือและผิดไปจากที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยไม่อาจทำได้ และจำเลยจะอ้างว่าเป็นการหักกลบลบหนี้ ก็มิได้เพราะโจทก์และจำเลยมีข้อสัญญาที่จะต้องปฏิบัติ ต่อกันอยู่
ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi