การฉ้อฉล คือ การที่ลูกหนี้ทำให้กองทรัพย์สินของตนลดน้อยลงโดยทุจริต ทำให้เจ้าหนี้เสียหาย โดยการทำให้ทรัพย์สินไม่เพียงพอที่เจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้ กฎหมายจึงให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ในการที่จะขอให้ศาลเพิกถอนการกระทำที่เป็นการฉ้อฉลที่ลูกหนี้ได้ทำลงนั้นได้
การเพิกถอนนิติกรรม คือ การเพิกถอนการฉ้อฉลเป็นวิธีการทำให้ทรัพย์สินกลับเข้ามาสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามเดิม เนื่องจากนิติกรรมที่ลูกหนี้ทำไปนั้นมีผลสมบูรณ์ แต่เป็นการฉ้อฉลทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ต้องใช้การฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นตามมาตรา 237
ตัวอย่าง
จำเลยที่ 1 มีเจ้าหนี้หลายราย มีภาระหนี้จำนวนมาก และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กลับชำระหนี้โดยโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อีกรายหนึ่งของตนอีกไปย่อมมีผลทำให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลดน้อยลงและโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์บังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นตามคำพิพากษาเสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2090/2560
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธเพียงว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เป็นไปตามกระบวนการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทของศาลอุทรภาค 7 เพื่อหาข้อยุติทางคดีนั้นชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบและไม่เป็นการฉ้อฉล โดยมิได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์และไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 และ ป. มีเจ้าหนี้หลายลายมีภาระหนี้จำนวนมากและไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ประกอบกับจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วทั้งก่อนและในขณะรับโอนที่ดินพิพาทว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์และรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 และ ป. มีเจ้าหนี้หลายราย มีภาระหนี้จำนวนมากและไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ จำเลยที่ 1 กลับเลือกชำระหนี้โดยโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อีกรายหนึ่งของตนไป ย่อมมีผลทำให้ทรัพย์สินของจำเลยที่หนึ่งลดน้อยลง และโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์บังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวได้ หรือเสียโอกาสในการขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์หากมีการยึดที่ดินพิพาทโดยเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง
การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉล โจทก์มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทได้
มาตรา 237 เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน
ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi