จ้างทำของไม่มีสิทธิตามกฎหมายแรงงาน แต่สามารถฟ้องบังคับได้ตามกฎหมายแพ่งเพราะถือว่าเป็นสัญญารูปแบบหนึ่งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พูดถึงการจ้างอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเกิดการเข้าใจผิดหรือสับสนกันมาโดยตลอดคือการจ้างทำของกับจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 บัญญัติว่า อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น โดยสัญญาจ้างแรงงานต้องบังคับตามกฎหมายแพ่งแต่เรื่องสัญญาจ้างแรงงานต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยแรงงานจึงเป็นคนละรูปแบบกัน
มีความแตกต่างกันในลักษณะการทำงานคือ การจ้างแรงงาน นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้างให้ทำการงานตามสั่งส่วนการจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาควบคุมการทำงาน ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องทำงานให้เสร็จเท่านั้น โดยจะใช้วิธีการใดก็ได้ รวมถึงการจ้างแรงงาน เครื่องมือเครื่องใช้สัมภาระเป็นของนายจ้างส่วนการจ้างทำของ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานนั้น ผู้รับจ้างจะเป็นผู้จัดหามาเอง (มาตรา588) รวมตลอดถึงสัมภาระชนิดที่ดีด้วย เว้นแต่จะตกลงไว้เป็นอย่างอื่น หรือในแง่ของความรับผิดชอบการจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนได้ให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง (มาตรา428)
ดังนั้น ขอสรุปอีกครั้งว่าเฉพาะแต่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับสวัสดิการ หรือสิทธิต่างๆตามที่กฎหมายทั้งหลายให้สวัสดิการ หรือสิทธิแก่ลูกจ้าง ไม่รวมถึงสัญญาจ้างทำของที่ผู้รับจ้างทำของนั้นมิได้เป็นลูกจ้างตามนิยามของกฎหมายแรงงาน จึงไม่มีสิทธิใดๆตามกฎหมายแรงงานทั้งสิ้น
อ้างถึงคำพิพากษาฎีกาที่ 2112/2524 การที่จำเลยจ้างโจทก์ตอกเสาเข็มของจำเลยด้วยปั้นจั่นของโจทก์ ตกลงค่าจ้างตอกเป็นรายต้น โดยโจทก์จำเลยมุ่งถึงผลสำเร็จของการตอกเสาเข็มเป็นสำคัญ โจทก์หาต้องทำงานตอกเสาเข็มภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยไม่ สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างทำของ มิใช่จ้างแรงงาน
และคำพิพากษาฎีกาที่ 2707/2531 องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยจ้างบริษัทจำเลยผลิตข่าวโจทก์ทำงานกับจำเลยในฐานะบรรณาธิการข่าว เรียบเรียงข่าวผู้ประกาศข่าว โจทก์มีหน้าที่ผลิตข่าวให้มีคุณภาพ ต้องมาเรียบเรียงข่าวให้ทันกับเวลาของรายการ แต่จำเลยมีอำนาจเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานได้ โจทก์ได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่ทำงาน ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใด ๆ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาการทำงานของโจทก์ ดังนี้ แม้โจทก์ตกลงผลิตข่าวให้แก่จำเลยโดยได้รับสินจ้างเพื่อการนั้นก็ตาม แต่โจทก์ปฏิบัติงานโดยอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยอันเป็นลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานประการหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน แต่เป็นสัญญาจ้างทำของ
มาตรา 575 บัญญัติว่า อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้
ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi