ทำสัญญาค้ำประกันให้คนรู้จัก แล้วสัญญาค้ำฯ จะสิ้นสุดลงเมื่อใด
เมื่อผู้ค้ำประกันเข้าทำสัญญาค้ำประกันในมูลหนี้ของลูกหนี้ชั้นต้น ผู้ค้ำประกันย่อมต้องผูกพันตนในมูลหนี้แห่งสัญญาตามที่ตนได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ แต่ผู้ค้ำประกันบางท่านอาจจะไม่ทราบว่าสัญญาค้ำประกันนั้นแท้จริงแล้วจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดไว้ใน 3 กรณีคือ
1. หนี้ประธานระงับ เมื่อหนี้ประธานระงับ หนี้อุปกรณ์ย่อมระงับตามไปด้วย แต่ที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 698 ไว้ว่า “อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่า เพราะเหตุใด ๆ” ทั้งนี้หนี้ประธานจะต้องระงับทั้งหมด สัญญาค้ำประกันจึงระงับ หากระงับแต่บางส่วน สัญญา ค้ำประกันยังคงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด
2. ผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญาในกรณีที่เป็นกิจการต่อเนื่องกันไปหลายคราว การค้ำประกันเพื่อกิจการ เนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลา ผู้ค้ำประกันสามารถบอกเลิกเฉพาะคราวในอนาคตเท่านั้น เมื่อบอกเลิก แล้วผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังการบอกเลิก
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 699 ไว้ว่า “ การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้
ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้ “
3. เมื่อเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาการใช้หนี้ให้แก่ลูกหนี้โดยผู้ค้ำประกันมิได้ยินยอมด้วย หากเป็นการค้ำ ประกันที่มีการกำหนดเวลาในการชำระหนี้ไว้แน่นอน เมื่อเจ้าหนี้ยินยอมผ่อนเวลาการใช้หนี้ให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำ ประกันหลุดพ้นไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ผู้ค้ำประกันประสงค์ที่จะยินยอมด้วย อย่างไรก็ตามหากผู้ค้ำประกันได้ทำ ข้อตกลงไว้ล่วงหน้าก่อนที่เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ อันมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ข้อตกลงนั้นใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 700 ไว้ว่า “ ผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระก็ได้
ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด”
คำพิพากษาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 3833/2552 การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ป. กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุนด้วยแล้ว กรณีจะทำโดยขืนใจ ป. ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันมิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญากู้เงิน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2550 จำเลย ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายของ ก. ต่อโจทก์ แต่เมื่อโจทก์และ ก. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเสียหายที่ ก. จะต้องรับผิด ความรับผิดของ ก. ที่เกิดจากสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายและความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ค้ำ ประกันจึงระงับสิ้นไป และทำให้ ก. ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และ 852 เมื่อความรับผิดของ ก. ต่อโจทก์เปลี่ยนเป็นความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยเนื่องจากหนี้ของ ก. ตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายระงับสิ้นไปแล้วตามมาตรา 698
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
ทำสัญญาค้ำประกันให้คนรู้จัก แล้วสัญญาค้ำฯ จะสิ้นสุดลงเมื่อใด