closelawyer@gmail.com       080-919-3691

ลูกจ้าง(ผู้ทวงถามหนี้) เป็นพนักงานของบริษัทติดตามทวงถามหนี้ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากธนาคาร ในการติดตามทวงหนี้กับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ ลูกจ้างได้โทรศัพท์ทวงถามโจทก์และแจ้งเรื่องดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นในโรงเรียนทราบ อันไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติในการทวงหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

การที่บริษัทติดตามทวงถามหนี้มอบให้ลูกจ้างไปกระทำในทางการที่จ้าง บริษัทจะอ้างว่าเหตุละเมิดเกิดเพราะลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคู่มือปฏิบัติงานของบริษัท  อันเป็นเรื่องภายในของลูกจ้างและบริษัทขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้  เมื่อลูกจ้างทวงหนี้โจทก์โดยจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง บริษัทติดตามทวงถามหนี้จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425

 

ส่วนธนาคารมีนิติสัมพันธ์กันในลักษณะที่บริษัทติดตามทวงถามหนี้เป็นตัวแทนของธนาคารโดยปริยายโดยมีบำเหน็จในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของธนาคารอยู่ด้วย เมื่อบริษัทติดตามทวงถามหนี้มอบหมายให้ลูกจ้างไปติดตามทวงหนี้จากโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคาร ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างเป็นตัวแทนของธนาคารโดยปริยายในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงหนี้จากลูกหนี้ของธนาคารเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 วรรคสอง

 

ดังนั้น แม้สัญญาระหว่างบริษัทติดตามทวงถามหนี้กับธนาคารมีข้อตกลงห้ามไม่ให้ลูกจ้างของบริษัททวงหนี้จากลูกหนี้ของธนาคารโดยวิธีการผิดกฎหมายประการใดก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ธนาคารจึงต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของลูกจ้างต่อโจทก์ด้วย ตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 2543/2561

จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากจำเลยที่ 4(ธนาคาร) ในการติดตามทวงหนี้กับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์มาทวงถามโจทก์และแจ้งเรื่องดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นในโรงเรียนทราบ อันไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติในการทวงหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

 

การที่จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ติดตามทวงตามหนี้จากโจทก์ อันเป็นกิจการที่จำเลยที่ 3 นายจ้างมอบให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างไปกระทำในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าเหตุละเมิดเกิดเพราะจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคู่มือปฏิบัติงานของจำเลยที่ 3  อันเป็นเรื่องภายในของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่  เมื่อจำเลยที่ 1 ทวงหนี้โจทก์โดยจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำไปในทางการที่จ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

 

ส่วนจำเลยที่ 4 แม้สัญญาบริการเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่สัญญาบริการดังกล่าวมีข้อตกลงในลักษณะจำเลยที่ 4 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ไปติดต่อทวงหนี้จากลูกหนี้ของของจำเลยที่ 4 แทน จำเลยที่ 4 จึงมีนิติสัมพันธ์กันในลักษณะจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 โดยปริยายโดยมีบำเหน็จในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 อยู่ด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ไปติดตามทวงหนี้จากโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 โดยปริยายในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 เช่นกัน ตามป.พ.พ. มาตรา 797 วรรคสอง

 

และแม้สัญญาระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 มีข้อตกลงห้ามมิให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ทวงหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 โดยวิธีการผิดกฎหมายประการใดก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 (คดีนี้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่  2)

 

มาตรา 425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi

ธนาคารต้องร่วมรับผิด แม้ธนาคารว่าจ้างให้บุคคลอื่นติดตามทวงถามหนี้ให้ หากพนักงานของผู้รับจ้างทวงถามหนี้โดยไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติและเป็นการละเมิด
Scroll to top
error: Content is protected !!