closelawyer@gmail.com       080-919-3691

สินสอด คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส

ของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ให้ไว้แก่ฝ่ายหญิงในขณะทำการหมั้นเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรสกับหญิง

 

ไม่ว่าจะเป็นสินสอดหรือของหมั้น หากฝ่ายชายส่งมอบทรัพย์ให้แก่ฝ่ายหญิงยึดถือครอบครองอันเป็นการยกให้ในวันพิธีมงคลสมรสแล้ว ฝ่ายชายจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ดังกล่าว ดังนี้ หากฝ่ายชายเห็นว่าฝ่ายหญิงไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างไร ฝ่ายชายก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกทรัพย์คืน ไม่มีสิทธิฉกฉวยเอาทรัพย์มาโดยพลการ การที่ฝ่ายชายมอบเงินสดและทองคำให้แก่ฝ่ายหญิงเป็นสินสอดหรือของหมั้น ต่อมามีการนำทองคำไปตรวจสอบแต่ได้น้ำหนักไม่เป็นไปตามที่ฝ่ายชายอ้าง และเกิดการโต้เถียงกัน หากฝ่ายชายหยิบเอาทองคำไป เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

 

ตัวอย่าง

การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าบ่าว หยิบสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำทรัพย์ตามฟ้องที่วางอยู่บนโต๊ะของร้านทองไป ไม่ว่าทรัพย์ตามฟ้องจะถือเป็นสินสอดหรือของหมั้นหรือไม่ก็ตาม แต่ฝ่ายจำเลยก็ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของ น. เจ้าสาว ยึดถือครอบครองอันเป็นการยกให้ในวันพิธีมงคลสมรสแล้ว จำเลยจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ดังกล่าว หากจำเลยเห็นว่าฝ่ายโจทก์ร่วมไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างไร จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกทรัพย์คืน หามีสิทธิฉกฉวยเอาทรัพย์มาโดยพลการไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 7868/2560

น. บุตรโจทก์ร่วมรักใคร่ชอบพอกับ ช. บุตรชายจําเลยจนฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ โจทก์ร่วมและจําเลยได้จัดพิธีมงคลสมรสให้แก่ น. และ ช. ที่บ้านของโจทก์ร่วม โดยฝ่ายจําเลยมอบเงินสด 200,000 บาท สร้อยคอทองคํา 5 เส้น สร้อยข้อมือทองคํา 4 เส้น ที่ฝ่ายจําเลยอ้างว่ามีน้ำหนัก 9 บาท ให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วม

 

ต่อมาวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ โจทก์ร่วมนําสร้อยคอทองคําและสร้อยข้อมือทองคําดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์ตามฟ้องไปตรวจสอบพร้อมกับฝ่ายจําเลยที่ร้านทองเยาวราช ผลการตรวจสอบได้น้ำหนักเพียง 8.25 บาท จึงเกิดการโต้เถียงกัน ระหว่างนั้น จําเลยหยิบเอาสร้อยคอทองคําและสร้อยข้อมือทองคํารวม 9 เส้น ราคา 193,875 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ตามฟ้องที่วางอยู่บนโต๊ะของร้านทองไป

 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จําเลยกระทำความผิดตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์และโจทก์ร่วมนําสืบว่า พิธีสมรสระหว่างบุตรสาวโจทก์ร่วมกับบุตรชายจําเลยไม่มีของหมั้น มีแต่สินสอดเป็นเงินสด 200,000 บาท และทรัพย์ตามฟ้องคือ สร้อยคอทองคําและสร้อยข้อมือทองคํา ส่วนจําเลยนําสืบว่า ทรัพย์ตามฟ้องไม่ใช่สินสอดแต่เป็นของหมั้น

 

เห็นว่า สร้อยคอทองคําและสร้อยข้อมือทองคําอันเป็นทรัพย์ตามฟ้องจะเป็นสินสอดหรือของหมั้นหรือไม่ก็ตาม แต่ฝ่ายจําเลยก็ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วมยึดถือครอบครองอันเป็นการยกให้ในวันพิธีมงคลสมรสแล้ว จําเลยจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ตามฟ้อง ดังนี้ หากจําเลยเห็นว่าฝ่ายโจทก์ร่วมไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างไร จําเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกทรัพย์คืน หามีสิทธิฉกฉวยเอาทรัพย์มาโดยพลการไม่ การกระทำของจําเลยเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจําเลยจึงเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า อันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

 

มาตรา 336  ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท

ปรึกษากฎหมายโทร📞 080-9193691,☎️ 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 ไลน์ @closelawyercmi

ฝ่ายชายมอบเงินสดและทองคำให้แก่ฝ่ายหญิงเป็นสินสอดหรือของหมั้น ต่อมาฝ่ายชายหยิบเอาทองคำไป เป็นความผิดฐานใด
Scroll to top
error: Content is protected !!